ข่าว

เผยสถิติ “ไข้หูดับ” โคราช ยอดผู้ป่วย 55 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย

เผยสถิติ “โรคไข้หูดับ” โคราช ยอดผู้ป่วย 55 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ในไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 กันยายน 2566 เสียชีวิตแล้ว 19 ราย เผยอาชีพเสี่ยงติดโรค

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วย โรคหูดับ ในประเทศไทย มากถึง 436 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 กันยายน 2566

Advertisements

ไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย, จังหวัดน่าน 1 ราย, จังหวัดตาก 2 ราย, จังหวัดอุตรดิตถ์ 2 ราย, จังหวัดกำแพงเพชร 1 ราย, จังหวัดอุทัยธานี 2 ราย, จังหวัดนครปฐม 2 ราย, จังหวัดสมุทรสาคร 1 ราย, จังหวัดมหาสารคาม 2 ราย, จังหวัดหนองคาย 1 ราย, จังหวัดนครราชสีมา 3 ราย และจังหวัดชัยภูมิ 1 ราย

ผู้ป่วยโรคไข้หูดับในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 109 คน แยกเป็นที่จังหวัดนครราชสีมา 4 ราย และจังหวัดชัยภูมิ อีก 1 ราย

นอกจากนี้พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยไข้หูดับ 55 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 4 ราย จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 11 ราย จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 3 ราย

อาชีพที่พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับสูงสุดคือ เกษตรกร ร้อยละ 32.11 รองลงมาคือ รับจ้าง ร้อยละ 31.19 และทำงานบ้าน ร้อยละ 12.84 สาเหตุของโรคเกิดจากการรับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัสซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ เชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจและเลือดของหมูที่ติดเชื้อ

กินหมูดิบ เสี่ยงไข้หูดับ

Advertisements

การบริโภคหมูดิบเป็นประแสในโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา นอกจากการรับประทานหมูดิบแล้ว ยังมีกระแสการบริโภคอกไก่ดิบ เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งโรคหูดับ หรือติดเชื้อแบคทีเรีย

นอกจากการบริโภคเนื้อหมูดิบแล้ว โรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับ จะทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน อุณหภูมิร่างกายมากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเชลเซียส ปวดศีรษะ หนาวสั่น กระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง ตาแดง มองภาพไม่ชัด หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน

ประชาชนจึงต้องรับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส หากรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง ต้องมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อ นำไปสู่โรคหูดับได้

การเลือกซื้อเนื้อหมูสำหรับการประกอบอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ส่วนผู้ที่เสี่ยงติดโรคจากหมู โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

โรคไข้หูดับเกิดขึ้นเป็นประจำ และเกิดจากการติดเชื้อที่มาจากการบริโภคโดยส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคเนื้อหมูดิบทุกกรณี เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หากท่านใดมีข้อสงสัยและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button