เปิดข้อมูล ปืนแบลงค์กัน คืออะไร สิ่งเทียมอาวุธล่อแหลม เป็นภัยกว่าที่คิด
ชำแหละข้อมูล ปืนแบลงค์กัน คืออะไร สิ่งเทียมอาวุธหาซื้อง่าย ดูเหมือนไม่อันตราย แต่สามารถดัดแปลงก่อภัยร้ายต่อสังคมได้
สืบเนื่องจากกรณีกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี พบว่าหลังผู้ร้ายถูกจับกุมตัวได้มีการยึดของกลางที่ใช้ก่อเหตุ โดยทาง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่าปืนที่คนร้ายใช้คือ “ปืนแบลงค์กัน” (Blank Gun) โมเดล Glock19
หลายคนอาจไม่คุ้นหูชื่อของแบลงค์กันเท่าไรนัก ไม่รู้ว่าปืนชนิดนี้เป็นอาวุธอันตรายสามารถคร่าชีวิตคนได้จริงหรือไม่ วันนี้เดอะไทยเกอร์พาไปสำรวจข้อมูลเกียวกับปืนแบลงค์กันว่าใช่อาวุธหรือไม่ ทำไมในข่าวก่อเหตุยิงกันมักจะมีชื่อปืนชนิดนี้โผล่มาด้วยทุกที
ปืนแบลงค์กัน คืออะไร ใช่อาวุธปืนจริงหรือไม่
ปืนแบลงค์กัน (Blank Gun) หรือ แบลงค์ฟายริ่งกัน (Blank Firing Guns) คือ ปืนเสียงเปล่า ถือเป็นโมเดลหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนกับอาวุธปืนจริง 100% ยกเว้นโครงสร้างภายในที่ไม่สามารถทำให้สิ่งเทียมอาวุธชนิดนี้ขับเครื่องกระสุนได้ กล่าวคือ เป็นปืนจำลองที่ใช่ยิงจริงไม่ได้
แบลงค์กันจะใช้กับลูกกระสุนเสียงที่ผลิตมาโดยเฉพาะ เช่นกระสุนในตระกูล K โดยขบวนการผลิตแบลงค์กันและลูกแบลงค์ชนิดแสงแฟลชจะอยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อไม่ให้สามารถนำปืนเทียมชนิดนี้ไปดัดแปลงเป็นอาวุธและใช้กับกระสุนปืนจริงได้ อีกทั้งวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบลงค์กันก็ยังต่างจากปืนจริงอีกด้วย
วัตถุประสงค์การใช้ปืนแบลงค์กัน
การผลิตแบลงค์กันจะอยู่ภายใต้การควบคุมของ C.I.P และ P.T.B ของสหภาพยุโรป โดยทั้ง 2 หน่วยงานนั้น มีขึ้นเพื่อตรวจสอบปืนจริงและปืนแบลงค์กันทุกกระบอกที่ถูกผลิตออกมา เพื่อให้อาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนได้มาตรฐาน ไม่สามารถนำไปดัดแปลงและใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้
โดยส่วนใหญ่ปืนแลงค์กันจะถูกใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะมีความสมจริงมาก แต่ไม่มีอันตราย จึงถือไว้เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากอย่างหนึ่ง หรือบางครั้งปืนแบลงค์กันก็ถูกใช้ในกีฬาไว้สำหรับยิงปล่อยตัว อีกทั้งบางคนยังชื่นชอบการสะสมปืนแบลงค์กันอีกด้วย โดยมีไว้เพื่อซ้อมยิงปืน หรือเพื่อลดอัตราการครอบครองอาวุธปืนจริง
ปืนแบลงค์กันผิดกฎหมายไหม
ปืนแลงค์กันจัดว่าเป็นสิ่งเทียมอาวุธตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และไม่ถือเป็นอาวุธปืนตามมาตรา 4(1) การมีไว้ในครอบครอง จึงไม่มีความผิด และไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติฯ กล่าวคือมีปืนแบลงค์กันในครอบครองไม่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันผู้ก่อเหตุกราดยิงหลายคนมักนำปืนแบลงค์กันมาดัดแปลง และบรรจุกระสุนจริงเพื่อก่ออาชญากรรม เนื่องจากการซื้อปืนแบลงค์กันไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต หาง่าย และราคาถูก ทำให้การก่ออาชญากรรมด้วยสิ่งเทียมอาวุธที่ถูกดัดแปลงเป็นอาวุธจริงนั้นตามรอยหาต้นตอเจ้าของอาวุธได้ลำบาก ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลต้องหาทางแก้กันต่อไปในอนาคต
ข้อมูลจาก : tacticaldefencestore