ไลฟ์สไตล์

ประวัติ “วันมหิดล” 24 กันยายน น้อมรำลึก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย

วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566 วันมหิดล วันคล้ายวันสวรรคต ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้นพระองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพนั้น ทรงได้สร้างคุณูประการและประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไพศาล โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกาย พระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อให้กิจการแพทย์และสาธารณสุขของไทยเจริญก้าวหน้า เหล่าปวงชนจึงพร้อมใจถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย”

Advertisements

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหาธิคุณแก่การแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย จึงได้มีการกำหนดให้ วันที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น วันมหิดล (โดยในปีนี้ วันมหิดล จะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ย. 66)

ประวัติ "วันมหิดล" 24 กันยายน น้อมรำลึก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย
ที่มา : royaloffice

วันนี้ทีมงาน Thaiger จึงขอพาทุกท่านร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์อีกครั้ง โดยการนำเสนอพระราชประวัติ ประวัติและความสำคัญวันมหิดล กิจกรรมภายในวันมหิดล รวมถึงธงวันมหิดล

พระราชประวัติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ (ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ตามปฏิทินเก่า หากนับตามปฏิทินสากล ต้องเป็น พ.ศ. 2435) และทรงสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2427 สิริรวมพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

พระองค์ทรงเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ประเทศอังกฤษ และศึกษาวิชาทหารเรือในประเทศเยอรมนี เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้รับพระราชอิสริยยศเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมันและสยาม ทรงเสด็จกลับมารับราชการในราชนาวีสยามอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาทรงลาออกจากกองทัพเรือ แล้วเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาทางการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตชั้น Cum Laude

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

ทรงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ พยาบาล และ ปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช ทรงเป็นผู้แทนสยามทำความตกลงกับ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ โดยทางมูลนิธิได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาจัดหลักสูตร รวมถึงให้ทุนอาจารย์ไทยไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ

Advertisements

ทรงพระราชทานทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของแพทย์และพยาบาล, สร้าง “ตึกมหิดลบำเพ็ญ” ตึกอำนวยการ, ซื้อโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ทำเป็นที่อยู่ที่เรียนของพยาบาล, จ้างพยาบาลต่างประเทศมาช่วยสอนและปรับปรุงโรงเรียนพยาบาล และ สนับสนุนการสอนและค้นคว้า

ทรงร่วมพิจารณา พระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 ทรงแก้ไขข้อขัดแย้งและความขัดแย้งต่าง ๆ จนลุล่วงไปด้วยดี ทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็น “กฎหมายทางการแพทย์ฉบับแรก” ที่ประกาศใช้

ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการรักษาผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง

ภายหลัง พระองค์ทรงได้รับยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้ทรงเป็น บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพยาบาลและการสาธารณสุข เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535

24 กันยายน วันมหิดล น้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย
ที่มา : Wikipedia

ประวัติและความสำคัญวันมหิดล

วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า “วันมหิดล” เพื่อเป็นการถวายสักการะ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน เพราะพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุข ของประเทศไทย

ตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้นได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ ในกาลต่อมา

พิธีวันมหิดลเริ่มโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯทรงเปิด พระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 แล้ว ในวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และนักศึกษาพยาบาล โดยการนำของ นายบุญเริ่ม สิงหเนตร นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ และ นางสาวชายัญ ปรักกะมะกุล หัวหน้านักศึกษาพยาบาล นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลตั้งแถวตามถนนจักรพงษ์ หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา

จากนั้นหัวหน้านักศึกษาวางพวงมาลาแล้วผู้แทนนักศึกษาอ่านฉันท์ ทูลกระหม่อมสดุดีอศิรวาท ซึ่งประพันธ์โดย นายภูเก็ต วาจานนท์ หลังจากนั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร และ ศ.นพ.เติม บุนนาค วางพวงมาลาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ในเวลาต่อมาก็มีงานอื่น ๆ ประกอบอีก เช่น ระยะแรกมีการออกรายการสดุดีสมเด็จพระบรมราชชนกทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนักศึกษาแพทย์และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย มีการทำงานโยธาในวันมหิดล ต่อมาเมื่อมีโทรทัศน์ ก็เริ่มจัดรายการ โทรทัศน์วันมหิดล

24 กันยายน วันมหิดล น้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย
ที่มา : Facebook Mahidolday

กิจกรรมในวันมหิดล

  • กิจกรรมรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ของทุกปี
  • การจัดนิทรรศการ เช่น พระราชประวัติ และผลงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
  • การจัดสัมมนาทางวิชาการ เช่น การแพทย์ใหม่ในประเทศไทย
  • การอภิปรายตามแนวพระดำริ เกี่ยวกับการแพทย์ไทย
  • การประกวด หรือการแข่งขันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกวดโรงพยาบาลดีเด่น
  • อื่น ๆ เช่น การมอบรางวัลให้กับแพทย์ พยาบาล ดีเด่น และผู้เสียสละเพื่อชาวชนบท เพื่อสังคม
24 กันยายน วันมหิดล น้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย
ที่มา : Facebook Mahidolday

ธงมหิดล

ธงที่ระลึกวันมหิดล หรือ ธงมหิดล จัดทำขึ้นเพื่อสมนาคุณแด่ผู้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราช เริ่มต้นทำธงตั้งแต่วันมหิดล 24 กันยายน พ.ศ. 2503 โดยสีธงนั้นจะเปลี่ยนไปตามวันในสัปดาห์ของวันมหิดลปีนั้น ๆ (เช่น ใน พ.ศ. 2566 นี้วันมหิดล ตรงกับวันอาทิตย์ จึงใช้ธงสีแดง)

สำหรับท่านใดที่สนใจบริจาคทุนทรัพย์เพื่อนำไปซื้อเวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส พร้อมรับธงมหิดลเป็นที่ระลึก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Mahidolday

อ้างอิง : 1 2

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button