วิธีควบคุมน้ำตาลในเลือด คุมเบาหวานให้อยู่หมัด สุขภาพดีทันใจ
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) มักพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้เส้นประสาท หลอดเลือด หรืออวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมา ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน มักมาจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการรับประทานอาหาร ภาวะเครียด ไม่ออกกำลังกาย เป็นโรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน และรับประทานยาที่มีสเตียรอยด์
ดังนั้น วิธีการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ตั้งแต่การนอนหลับ การรับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไปจนถึงการออกกำลังกาย ที่สามารถช่วยให้คุณสามารถควบคุมน้ำตาลได้เลือดได้เป็นอย่างดี หากใครที่กำลังมองหาวิธีการควบคุมน้ำตาลอยู่ ไม่ต้องกังวลไป Thaiger จะมาแจกทริคการควบคุมน้ำตาลในเลือด ดูแลสุขภาพของทุกท่านจากภายใน เพื่อสุขภาพของทุกท่านที่ดียิ่งขึ้น
9 วิธีควบคุมน้ำตาลในเลือด ดูแลตัวเองอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น
1. ควบคุมอาหาร
หนึ่งในวิธีพื้นฐานของการควบคุมน้ำตาลในเลือด คงหนีไม่พ้นการควบคุมอาหาร ควรบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงอย่าง ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม อาหารแปรรูปต่าง ๆ ให้น้อยลง เน้นรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่ว เต้าหู้ ที่สำคัญควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะไขมันจะส่งผลให้ร่างกายดื้ออินซูลินมากขึ้น น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เชื่อว่าหลายคนคงทราบกันดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์มากเพียงใด การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ทำให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้มากยิ่งขึ้น เป็นผลพลอยได้ให้น้ำตาลในเลือดลดลงไปด้วย แถมยังช่วยลดความดันโลหิต ช่วยให้หัวใจกับปอดแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
3. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หากท่านมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน จะทำให้ร่างกายดื้ออินซูลินมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น การลดน้ำหนักตัวลงจะช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมา
4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอลโตสเตอโรนมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีการสะสมน้ำและโซเดียมมากกว่าปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ การผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารและฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ หากจำเป็นต้องดื่ม ไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำฉับพลัน
5. ดื่มน้ำเป็นประจำ อย่าให้ขาด
การดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยให้ไตของคุณสามารถขับน้ำตาลส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะ ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แถมยังช่วยให้อวัยวะในร่างกายทำงานลื่นไหล แต่น้ำที่ควรดื่มเป็นประจำจะต้องเป็นน้ำเปล่าเท่านั้น หากดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน นอกจากน้ำตาลจะเพิ่มสูงแล้ว ยังเพิ่มน้ำหนักตัวของคุณอีกด้วย
6. ควบคุมความเครียด
เมื่อร่างกายและจิตใจของคุณมีความเครียด ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนออกมา ทำให้หัวใจของคุณเต้นเร็วขึ้น มีการสูบฉีดเลือดที่มากขึ้น ผนังหลอดเลือดหกเกร็งมากกว่าปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก จะเกิดการกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของน้ำตาล ยิ่งเครียดมาก ระดับน้ำตาลในเลือดจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
7. นอนหลับให้เพียงพอ
หากคุณนอนหลับไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายเกิดความเครียด จนเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้ การพักผ่อนน้อยจะทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น แถมยังมีโอกาสที่จะทำให้คุณทานอาหารมากขึ้น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
8. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดและนำไปสู่การตีบตันของหลอดเลือด โดยเฉพาะสารนิโคตินในบุรี่ ที่อาจทำให้หลอดเลือดหดตัว สูญเสียความยืดหยุ่นไป แถมสารนิโคตินและสารพิษในควันบุหรี่ จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของอินซูลิน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะแย่ตามไปด้วย
9. หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
การตรวจน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้คุณสามารถติดตามได้ว่า ตอนนี้คุณกำลังควบคุมน้ำตาลได้ดีแล้วหรือยัง นอกจากนี้ยังสามารถเช็กได้ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ทานแล้วทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เพราะการตอบสนองต่ออาหารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การตรวจน้ำตาลจึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้คุณรู้ได้อย่างชัดเจน
อาการที่ควรเฝ้าระวังของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
สัญญาณของโรคน้ำตาลในเลือดสูง แม้จะยังไม่ชัดเจนแต่ก็สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ เมื่อระดับน้ำตาลสูงเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อาการในช่วงเริ่มต้นสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
- มองเห็นไม่ชัด
- กระหายน้ำมาก
- น้ำหนักลด
- อ่อนเพลียง่าย
- แผลหายช้าและติดเชื้อง่าย
- เวียนหัวบ่อย
หากผู้ที่มีระดับน้ำตาลสูงเกิน 250 มิลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากการสะสมของสารคีโตน ซึ่งเป็นของเสียในเลือดและปัสสาวะ ทำให้มีอาการอื่น ๆ ตามมา บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนรู้สึกสับสน ซึม และหมดสติ
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแค่ไหน จึงเป็นผู้ป่วยเบาหวาน
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการตรวจดูระดับน้ำตาลที่มีในเลือด โดยต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง ก่อนการตรวจเลือด และจะต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เช่น ประวัติสุขภาพและอาการที่พบ โดยระดับน้ำตาลในเลือด แบ่งออกเป็นค่าปกติ ค่าน้ำตาลในเลือดสูง และค่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
- ค่าปกติในผู้ใหญ่ จะอยู่ที่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือเป็นระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติ
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อยู่ในระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
หากใครที่กำลังมีปัญหาน้ำตาลในเลือดสูง แนะนำให้ลองทำตาม 9 วิธีที่ Thaiger ได้เสนอไปให้กันได้เลย สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรรับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการควบคุมหรือป้องกันเพื่อไม่ให้อาการแย่ลง