นักดาราศาสตร์พบ “ฟองกาแล็กซี” ขนาดมหึมา คาดว่าเป็นฟอสซิลจากบิ๊กแบง
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ “ฟองกาแล็กซี” ฟอสซิลจากการระเบิดของบิ๊กแบง กว้างกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกถึง 10,000 เท่า และอยู่ห่างจากกาแล็กซีของเราถึง 820 ล้านปีแสง
ข่าวที่กำลังฮือฮาในวงการดาราศาสตร์ล่าสุด วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566 เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติได้ค้นพบ ฟองกาแล็กซี ก้อนแรก ซึ่งเป็นโครงสร้างจักรวาลขนาดมหึมา โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางหนึ่งพันล้านปีแสง และมีศูนย์กลางอยู่ห่างจากกาแล็กซีของเราประมาณ 820 ล้านปีแสงเลยทีเดียว
นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบฟองกาแล็กซีดังกล่าวระบุว่า ฟองกาแล็กซีนี้กว้างกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกถึง 10,000 เท่า ทั้งนี้ เชื่อกันว่าฟองกาแล็กซีดังกล่าว เป็นซากฟอสซิลที่เหลือหลังจากการระเบิดตัวของบิ๊กแบง (Big Bang) นั่นเอง
ในการค้นพบฟองกาแล็กซีดังกล่าว มีนักดาราศาสตร์ลงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย โดย คัลลัน ฮาวเล็ตต์ สมาชิกในทีมจากคณะคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์กล่าวว่า ฟองกาแล็กซีหรือฟองสบู่มหัศจรรย์นี้ เป็นฟอสซิลจากบิ๊กแบงเมื่อ 13 พันล้านปีก่อน ตอนที่เอกภพถือกำเนิดขึ้น
ฟองกาแล็กซีนี้มีโครงสร้างขนาดใหญ่มาก โดยมีโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่มากจนล้นไปจนถึงขอบท้องฟ้า ทั้งยังบดบังโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหลายแห่งที่เรารู้จัก เช่น กำแพงกาแล็กซีสโลนเกรตวอลล์ และกระจุกดาราจักรบูตส์ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของฟองกาแล็กซีนี้
นอกจากนี้ ฮาวเล็ตต์ได้กล่าวอีกว่า การค้นพบนี้ให้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวของเอกภพ และการค้นพบนี้สามารถปฏิวัติจักรวาลวิทยาได้ เพราะฟองกาแล็กซีมีขนาดใหญ่กว่าที่คิด จักรวาลเลยขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก ตอนนี้เราเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสาขาจักรวาลวิทยาอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งแบบจำลองทั้งหมดของจักรวาลอาจจำเป็นต้องประเมินใหม่
พร้อมกันนี้ แดเนียล โปมาเรเด สมาชิกในทีมนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ จากคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของฝรั่งเศส กล่าวว่าฟองของกาแล็กซีสามารถมองเห็นเป็นเปลือกทรงกลมรูปหัวใจ แต่ภายในหัวใจนั้นคือกระจุกกาแล็กซีบูตส์ ซึ่งล้อมรอบด้วยความว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ และมีโครงสร้างขนาดใหญ่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การค้นพบฟองกาแล็กซีนี้ ยังยืนยันปรากฏการณ์ที่อธิบายครั้งแรกในปี 1970 โดยนักจักรวาลวิทยาชาวแคนาดา-อเมริกัน และ จิม พีเบิลส์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ โดยเขาตั้งทฤษฎีว่า ในเอกภพดึกดำบรรพ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นพลาสมาร้อน การปั่นป่วนของแรงโน้มถ่วงและการแผ่รังสีทำให้เกิดคลื่นเสียงที่เรียกว่า “แบริออนอะคูสติกออสซิลเลชัน” (BAO)
เมื่อคลื่นเสียงกระเพื่อมผ่านพลาสมา พวกมันก็สร้างฟองอากาศขึ้นมา จนกระทั่งประมาณ 380,000 ปี หลังจากกระบวนการของบิ๊กแบงหยุดลง และจักรวาลเย็นลง ทำให้กลายเป็นน้ำแข็งรูปร่างของฟองสบู่ หลังจากนั้นฟองสบู่ก็ใหญ่ขึ้น เมื่อเอกภพขยายตัว จึงเกิดเป็นฟองกาแล็กซีขนาดมหึมา ซึ่งคล้ายกับซากฟอสซิลอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังบิ๊กแบง
จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาสรุปว่า ฟองกาแล็กซี ซึ่งคาดว่าเป็นฟอสซิลที่เหลือจากบิ๊กแบง เมื่อเอกภพขยายตัว ฟองกาแล็กซีจึงเกิดการขยายตัวตามจนมีขนาดมหึมา ทั้งนี้ เบรนต์ ทัลลี นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย หนึ่งในทีมผู้คนพบ ตั้งชื่อฟองกาแล็กซีนี้ว่า “โฮโอเลลานา” (Ho’oleilana) ซึ่งเป็นภาษาฮาวายที่แปลว่า “เสียงของการตื่นขึ้น” ชื่อล้ำสุด ๆ ไปเลย
อ้างอิง : 1