‘สิทธิบัตรทอง 2566’ คุ้มครองอะไรบ้าง สิทธิรักษาพยาบาลพื้นฐานที่คนไทยต้องรู้
คนไทยรู้ไว้ สิทธิบัตรทอง รักษาโรคอะไรได้บ้าง ใช้ได้ที่ไหน สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ช่วยให้เข้าถึงการรักษามากยิ่งขึ้น
ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้ง่ายและถูกเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เนื่องจากผู้ที่เกิดมามีสัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก จะได้รับสิทธิการรักษาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยอัตโนมัติ
สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น มีอีกชื่อเรียกหนึ่งที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดีว่า “บัตรทอง” หรือ “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ทำการยกระดับให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้นของประชาชนเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วยการชำระค่าบริการเพียง 30 บาท แต่ปัจจุบันนั้นมีเพิ่มระดับการให้บริการ ซึ่งในบางครั้งผู้เข้ารักการรักษาก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
และถือเป็นข่าวดีของประชาชนคนไทย ที่ล่าสุด (6 ก.ย. 66) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทการทำหน้าที่ของ รมว.สาธารณสุข ว่าจะยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ บัตรทอง ให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้น โดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับการรักษา
วันนี้เดอะไทยเกอร์จึงขอถือโอกาสพาทุกคนไปดูเกณฑ์การรักษาพยาบาลด้วยสิทธิบัตรทองกันสักหน่อยว่าคุ้มครองการให้บริการสาธารณสุขด้านใดบ้าง และสามารถเข้ารับบริการได้ที่ไหน ข้ามเขต ข้ามจังหวัด ยังสามารถใช้บัตรทองได้อยู่หรือไม่ คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว เลื่อนลงไปอ่านพร้อมกันได้เลย
สิทธิบัตรทองรักษาโรคอะไรได้บ้าง?
แม้ในปัจจุบันจะพบว่าผู้ที่เข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทองจะไม่ต้องชำระค่าบริการ ทว่าสิทธิบัตรทองนั้นก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าวินิจฉัยโรค ค่ารักษาพยาบาล หรือค่ายาทั้งหมด โดยผู้ถือบัตรทองจะได้รับการคุ้มครองค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข 16 รายการ ดังนี้
1. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2. การตรวจวินิจฉัยโรค
3. การตรวจและรับฝากครรภ์
4. การบำบัดและการบริการทางการแพทย์
5. ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
6. การทำคลอด
7. การกินอยู่ในหน่วยบริการ
8. การบริบาลทารกแรกเกิด
9. บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
10. บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
11. การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
12. บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
13. บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม
14. การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด
15. การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุและการประสบภัยจากรถยนต์
16. การรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน
สิทธิบัตรทองใช้ได้ที่ไหน นอกเขตได้ไหม?
สำหรับสิทธิบัตรทองสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ โดยผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขได้ที่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนใช้สิทธบัตรทอง หรือหน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข (พื้นที่กรุงเทพฯ) คลินิกชุมชนอบอุ่น ทั้งแบบภายในจังหวัดเดียวกัน ข้ามจังหวัด และข้ามเขตสุขภาพ
จากเรื่องการยกระดับบัตรทองที่กล่าวถึงข้างต้น หากนายแพทย์ชลน่านสามารถทำให้บัตรทองครอบคลุมทุกการรักษาและค่าบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ก็จะถือว่าเป็นนโยบายที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่วงการสาธารณสุขไทยเป็นอย่างมาก และไม่แน่ว่าหลาย ๆ ประเทศอาจยกเอาประเทศไทยเป็นต้นแบบในด้านนี้ก็เป็นได้