ข่าวข่าวการเมือง

นับถอยหลัง 3 เดือน ราชทัณฑ์ชงเสนอพิจารณาพักโทษ ‘ทักษิณ’

นับถอยหลัง 3 เดือน ราชทัณฑ์ชงคณะกรรมการวินัยพิจารณาพักโทษ ทักษิณ แหล่งระดับสูงชี้อาจไม่ต้องติดกำไล EM ด้วย

จากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาออกแถลงว่าด้วยเรื่องลดโทษนาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีอาญา 3 คดี จาก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมานั้น

จากการตรวจสอบเอกสารว่าด้วยเรื่องของการพักโทษที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า “การพักการลงโทษ หมายถึง การที่นักโทษเด็ดขาดจะได้รับการปล่อยตัวก่อนวันครบกำหนดโทษ เพื่อให้ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวหรือสังคม ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยผู้ที่จะได้รับการพักการลงโทษนี้จะต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัวหรือกำไล (EM) เพื่อคอยติดตามตัวและสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับสังคมภายนอก อีกทั้งการพักการลงโทษเป็นเสมือนกลไกหนึ่งที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติให้มีความพร้อมที่จะประพฤติตนเป็นพลเมืองดีและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งการพักการลงโทษ แบ่งเป็นสองกรณีคือ 1.การพักการลงโทษกรณีปกติ และ 2.การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ

“การพักการลงโทษกรณีปกติ” นักโทษเด็ดขาดจะต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลฉบับหลังสุดแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ตามมาตรา 52(7) แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และอาจได้รับการพักการลงโทษตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1.นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ได้รับการพักการลงโทษไม่เกินหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษฉบับหลังสุด เช่น กำหนดโทษหลังสุด 3 ปี ต้องจำคุกมาแล้ว 2 ปี จะได้พักการลงโทษ 1 ปี 2.นักโทษชั้นดีมาก ได้รับการพักการลงโทษไม่เกินหนึ่งในสี่ของกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษฉบับหลังสุด เช่น กำหนดโทษหลังสุด 4 ปี ต้องจำคุกมาแล้ว 3 ปี จะได้พักการลงโทษ 1 ปี และ 3.นักโทษเด็ดขาดชั้นดี ได้รับการพักการลงโทษไม่เกินหนึ่งในห้าของกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษฉบับหลังสุด เช่น กำหนดโทษหลังสุด 5 ปี ต้องจำคุกมาแล้ว 4 ปี จะได้พักการลงโทษ 1 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาการคุมประพฤติกำหนดไว้ไม่เกิน 5 ปี

“การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ” คือ จะเป็นการพิจารณาพักการลงโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย โดยจะได้รับการพักการลงโทษมากกว่าวิธีการพักการลงโทษกรณีปกติ โดยจะต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลฉบับหลังสุด แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า โดยในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพิเศษที่จะพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดมากกว่าพักการลงโทษกรณีปกติ ให้เสนอคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ พิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติ

ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาพักการลงโทษในชั้นเรือน จำ ประกอบด้วย 1.เรือนจำสำรวจผู้เข้าเกณฑ์พักการลงโทษล่วงหน้า 6 เดือน 2.ปิดประกาศให้ผู้ต้องขังทราบ 3.เจ้าหน้าที่รวบรวมเอกสาร อาทิ ทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง (รท. 101), สำเนาหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดทุกคดีและสำเนาหมายจำคุกฉบับหลังสุดกรณีได้รับพระราชทานอภัยโทษทุกฉบับ, สำเนาคำพิพากษาของศาล ทุกศาล ทุกคดี, แบบรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริง (แบบ ส.2-46) พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ต้องขังและผู้อุปการะ เพื่อนำเสนอคณะทำงานพิจารณาวินิจฉัยพักการลงโทษ 4.คณะทำงานประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกนักโทษ เสนอขอพักการลงโทษไปยังกรมราชทัณฑ์ โดยมีองค์ประกอบสำหรับการพิจารณา คือ ต้องไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดที่ก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญหรือเป็นภัยต่อสังคม, ความน่าเชื่อถือของผู้อุปการะ, ฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวและการประกอบอาชีพหลังปล่อยตัว, ความสำนึกในการกระทำผิดและการชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย, ระยะเวลาในการต้องโทษที่เหมาะสม และ 5.เรือนจำจัดส่งรายชื่อนักโทษเด็ดขาดพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาพักการลงโทษให้กับกรมราชทัณฑ์

จากนั้นเมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับเอกสารประกอบการพิจารณาพักการลงโทษจากเรือนจำครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบประมวลและสรุปข้อมูลนักโทษเด็ดขาด จัดทำบัญชีรายชื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ให้ดำเนินการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอนุมัติอีกชั้นหนึ่ง ท้ายสุดกรมราชทัณฑ์แจ้งผลการพิจารณาไปยังเรือนจำ

ผลการพิจารณาการพักการลงโทษของคณะอนุกรรมการ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1.ไม่เห็นชอบพักการลงโทษ ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำจะมีหน้าที่ในการชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ต้องขัง และ 2.เห็นชอบพักการลงโทษ ส่วนขั้นตอนถัดไป เรือนจำต้องเตรียมเอกสารหนังสือสำคัญการปล่อยตัวพักการลงโทษ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไขการคุมประพฤติให้กับผู้ต้องขังรับทราบ จากนั้นเรือนจำ/ทัณฑสถาน ปล่อยตัวผู้ต้องขังและประสานกับสำนักงานคุมประพฤติ พนักงานฝ่ายปกครอง หัวหน้าสถานีตำรวจ กรมราชทัณฑ์ พร้อมส่งเอกสารหนังสือสำคัญการปล่อยตัวพักการลงโทษ เพื่อให้ทราบว่าจะมีการปล่อยตัวนักโทษออกไปอยู่ในพื้นที่แล้ว และในช่วงการปล่อยตัวคุมประพฤติ หากนักโทษสามารถปรับตัวตามเงื่อนไขโดยไม่ได้กระทำความผิดใด ก็จะได้รับใบบริสุทธิ์ แต่ถ้านักโทษกระทำผิดเงื่อนไขก็จะถูกเพิกถอนการคุมประพฤติและส่งกลับมายังเรือนจำ”

อ้างอิงจากสำนักข่าวเดลินิวส์ระบุว่า ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับแหล่งข่าวระดับสูง เนื่องด้วยนายทักษิณถือเป็นผู้ต้องขังสูงวัยและมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง จึงอาจเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎกระทรวง แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 คือ อาจจะต้องรับโทษอย่างน้อย 1 ใน 3 ดังนั้น นายทักษิณมีโทษ 1 ปี หากนับจากวันที่เจ้าตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะเหลือเวลาอีกประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะอยู่ในห้วงเดือนธันวาคมนี้ และเมื่อได้รับการพักการลงโทษ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอน คือ ราชทัณฑ์นำตัวไปรายงานต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ภายใน 3 วันนับแต่ได้รับการปล่อยตัว เพื่อกำหนดนัดหมายวันเวลาสำหรับการรายงานตัวรายเดือน ส่วนเรื่องการติดหรือไม่ได้ติดกำไล ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานคุมประพฤติ แต่ในกรณีของนายทักษิณนั้น หากมองภาพรวมจะเห็นว่าเป็นผู้ต้องขังสูงวัยที่ป่วยรุมเร้าด้วย 4 โรคเรื้อรัง ทั้งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสำนึกในการกระทำความผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

จึงเป็นไปได้ว่าจะไม่เข้าข่ายต้องติดกำไล (EM) และอาจจะพ่วงเงื่อนไขไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับงานการเมืองใดๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีประการความเป็นไปได้ที่นายทักษิณจะพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวทันที คือ กรณีมีพระราชกฤษฎีกา ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ในวาระโอกาสสำคัญ เช่น วันที่ 13 ต.ค. หรือ วันที่ 5 ธ.ค. เป็นต้น ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดแนบท้ายด้วยว่ามีสาระเนื้อหาการยกเว้นอื่นใดหรือไม่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลตนยังยืนยันว่าเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ

ด่วน! ในหลวง ร.10 พระราชทานอภัยโทษ ‘ทักษิณ’ ลดโทษเหลือ 1 ปี

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button