“กรมส่งเสริมวัฒนธรรม” ชี้แจง หลังมีดราม่า 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น
“อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม” ออกมาชี้แจง กรณีดราม่า 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น หลังคนท้องถิ่นไม่รู้จักเมนูที่ได้รับการคัดเลือกมา เผยต้องการให้คนในท้องถิ่นสนใจ และได้พบกับรสชาติที่หายไป
หลังจากที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (สวธ.) ประกาศเรื่องผลการคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ไปแล้วนั้น ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนมากมาย เนื่องจากบางเมนูประจำถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกมา คนท้องถิ่นหรือคนในพื้นที่ของจังหวัดนั้นไม่รู้จักมาก่อน ล่าสุด อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ออกมาชี้แจงแล้ว
โดยวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2566 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ชี้แจงถึงประเด็นดราม่าอาหารประจำถิ่น โดยชี้แจงว่า ได้ดำเนินโครงการนี้เพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้อยู่คู่กับอาหารไทย และอยู่คู่บ้านคู่เมืองของคนไทย โดยประสานงานกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด และเครือข่ายทางวัฒนธรรม รวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก เพื่อยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์เป็นอาหารประจำจังหวัด
อีกทั้งเพื่อจัดทำเป็นสำรับอาหารประจำภาคทั้ง 4 ภาค เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้ และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารถิ่น ทั้งคาวและหวาน ซึ่งมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ สมุนไพร ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับและประวัติความเป็นมา ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหารโดยต่อยอดจากวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรชุมชน
สิ่งเหล่านี้ สามารถนำเสนอในมิติความแตกต่างแปลกใหม่ และเป็นสากลเทียบเท่ากับอาหารจากชนชาติอื่น ๆ ได้ ตลอดจนจะเป็นโอกาสในการปลูกฝังค่านิยมการรับประทานอาหารที่ปรุงจากอาหารพื้นบ้านแก่เยาวชนรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งการประกาศเมนูอาหารทั้ง 77 รายการนี้ เข้าใจได้ว่าอาหารบางชนิดคนในท้องถิ่นเองอาจไม่รู้จัก
แต่ถึงกระนั้น นี่คือสิ่งที่ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ คือการค้นหาเมนู “รสชาติ…ที่หายไป” ซึ่งเราอยากฟื้นกลับมา และเมื่อคัดเลือกมาแล้ว ถือเป็นการปลุกกระแสทำให้คนในท้องถิ่นหันมาสนใจ และส่งผลดีต่อการสร้างความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดนั้น ๆ และยังสามารถพัฒนาสู่การพิจารณายกย่องเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ สวธ. จะส่งเสริมและยกระดับอาหารไทยโบราณท้องถิ่น รวมถึงรวบรวมสูตรอาหารกับข้าวไทย ๆ วิธีทำอาหารดั้งเดิม พร้อมด้วยเคล็ดลับการทำอาหารอย่างประณีตเผยแพร่ในระดับชาติ และในวันที่ 21 ก.ย. 66 นี้ สวธ. จะจัดกิจกรรมประกาศยกย่องเมนูอาหารถิ่นทั้ง 77 รายการอย่างเป็นทางการ โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารถิ่นทุกจังหวัดมาให้ความรู้ และสาธิตกระบวนการทำอาหารทุกเมนู จากนั้นจะยกระดับการเผยแพร่เมนูอาหารถิ่นสู่ระดับสากลต่อไป
อาจกล่าวได้ว่า การหยิบยกเมนูที่คนท้องถิ่นหรือคนในพื้นที่นั้น ๆ ไม่รู้จักขึ้นมาเป็นเมนูประจำถิ่น เป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่ต้องการทำให้คนรุ่นใหม่ได้พบกับ “รสชาติที่หายไป” หมายความว่า เมนูประจำถิ่นของแต่ละจังหวัดอาจไม่ได้มีชื่อเสียงในปัจจุบัน แต่เป็นการขุดคุ้ยเมนูที่เคยมีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ในอดีต ให้กลับมาเป็นเมนูเชิดชูถิ่นได้ในปัจจุบันนั่นเองค่ะ