‘ปังชา’ จดทะเบียนสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ อะไรบ้าง สรุปห้ามลอกโลโก้ หรือทำเมนูเหมือน
ร้านอาหารชื่อดัง ลูกไก่ทอง ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า แบรนด์ ปังชา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบ
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาทางด้านร้านอาหารชื่อดังอย่าง “ลูกไก่ทอง“ ได้ออกมาประกาศแจ้งผ่านทางเฟซบุ๊กว่าแบรนด์ปังชาของทางร้าน ได้ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (Copyright All Right Reserved) เครื่องหมายการค้า (Trademark) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อันได้แก่ “ปังชา” ภาษาไทย กับ “Pang Cha” ภาษาอังกฤษ
โดยมีการจะทะเบียนลิขสิทธิ์และจดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงสงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และสงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความคิดเห็นที่พากันเข้ามาคอมเมนต์ถึงรสชาติความอร่อยของเมนูปังชา ทว่าชาวเน็ตบางส่วนก็ยังคงสับสนงุนงงกับสิ่งที่ทางแบรนด์ต้องการจะสื่อ เนื่องจากไม่มีการลงรายละเอียดว่าจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรสิ่งใด จึงทำให้หลายคนไม่เข้าใจว่าการห้ามลอกเลียนแบบนั้นหมายถึงชื่อแบรนด์ หรือเมนูปังชา
ต่อมาได้มีบางส่วนเข้ามาแสดงความคิดเห็นช่วยอธิบายว่า สิ่งที่ปังชาจด เป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไม่ใช่เมนูอาหาร ดังนั้น คนยังขายเมนูปังชาเย็นได้ตามปกติ แต่ห้ามนำชื่อ “ปังชา” ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในทุกๆ กรณี เพราะจะถือเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า
“ปังชา” จดทะเบียนอะไรบ้าง
ล่าสุด ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ ได้ตรวจสอบรายละเอียดผ่านทางเว็บไซต์ของ กรมทรัพย์สินทางปัญหา พบว่า “ปังชา” ได้จะทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาหลัก ๆ อยู่ 2 ข้อ ประกอบด้วย ถ้วยไอศกรีม และเครื่องหมายทางการค้า โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ถ้วยไอศกรีม – สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้จะมีอายุความคุ้มครอง 10 ปี (ต่ออายุอีกไม่ได้) ความคุ้มครอง คือ ร้านอื่น ๆ จะใช้ถ้วยไอศกรีม บิงซู น้ำแข็งใส ลักษณะเดียวกันกับที่เค้าจดทะเบียนไว้ไม่ได้
2. เครื่องหมายการค้า
จากการสืบค้นการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า พบว่าจะมีอยู่ 3 รูป ที่ได้จดคุ้มครองสินค้าประเภทน้ำแข็งใส แต่ทาง ปังชา ก็ยังได้จดเครื่องหมายไว้กับสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกหลายอย่างอีกด้วย
2.1 รูปผู้หญิงนั่งอยู่กับถ้วยไอศกรีม
รูปแรกที่เป็นผู้หญิงนั่งอยู่กับถ้วยไอศกรีม จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า “ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันที่ปรากฎในภาพ ยกเว้นคำว่า KAM”
2.2 รูปวงรีสีดำ
รูปที่สอง วงรีสีดำ จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า “ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน คำว่า PANG CHA THE BEST THAI TEA”
2.3 รูป วงรีสีขาว
รูปที่สาม วงรีสีขาว จะมีข้อความสละสิทธิเขียนไว้เลยว่า “ไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน คำว่า PANG CHA”
สรุปคำว่า “ปังชา” จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไหม
สรปความหมาย คือ เราห้ามทำรูปโลโก้ หรือ เครื่องหมายการค้าแบบที่เค้าจดไว้ เช่น ผู้หญิงใส่ชุดไทยมานั่งกับถ้วยไอศกรีมแบบนี้ หรือ ทำเป็นโลโก้แบบในภาพ แต่คำต่าง ๆ ไม่ว่าจะ PANG CHA, the Best Thai Tea ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้
ส่วนคำว่า ”ปังชา” ภาษาไทย สามารถใช้ได้ตามปกติ เพราะเค้าไม่ได้จดไว้กับสินค้าบริการประเภทนี้ แต่ก็มีชาวเน็ตใบ้มาว่าทางร้านได้มีจดทะเบียนลิขสิทธิ์คำว่า “ปังชา” ภาษาไทยไปจดกับสินค้าประเภทอื่น เช่น สินค้าที่ระลึก
สรุปคำว่า “Pang Cha” หรือ “ปังชา” ไม่ได้มีการจดไว้เป็นเครื่องหมายการค้าของใคร ที่จดคือ รูปภาพหรือโลโก้ ซึ่งได้สละสิทธิคำว่า Pang Cha ไว้แล้ว
สำหรับกรณีฟ้องร้อง 102 ล้านบาท ไม่น่าจะเรียกร้องได้ และผู้ประกอบการที่ตั้งชื่อเพจว่า ปังชา ยังสามารถใช้ขายน้ำแข็งใส บิงซู ต่อไปได้ตามปกติ
อ้างอิง : 1