สุขภาพและการแพทย์

โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) หาหมอกี่ครั้งก็ไม่หาย รักษายังไงเช็กได้ที่นี่

โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) โรคนี้คืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง พร้อมวิธีรักษา และวีธีการดูแลตัวเอง หากเป็นโรคนี้

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย เชื้อโรคที่มากับฝนก็เยอะเป็นพิเศษ ไหนจะโรคระบาดในช่วงหน้าฝนต่าง ๆ นานา ออกจากบ้านแต่ละทีเหมือนจะป่วยที จนบางครั้งก็สงสัยว่า ตกลงเราป่วยจริง หรือกำลังประสบกับ โรคคิดไปเองว่าป่วย หรือ Hypochondriasis กันแน่นะ เพราะไปพบแพทย์ก็ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นอะไรเลยสักนิด

Advertisements

พูดมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ ท่านอาจจะคิดว่า โรคคิดไปเองว่าป่วย เนี่ยมีจริงหรือ เพราะหลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีโรคนี้อยู่โลกนี้จริง ๆ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มักหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เนื่องจากคิดว่าตัวป่วย แถมป่วยแบบไม่ยอมหายเสียทีอีกด้วย และแม้ว่าจะพบแพทย์กี่ครั้งก็ไม่พบความผิดปกติใด ๆ เลย

วันนี้ทีมงาน Thaiger จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) โรคนี้มีอาการอย่างไร สาเหตุและกลุ่มคนที่มักป่วยอยู่ไหนช่วงวัยไหน พร้อมกับวิธีการรักษา และวิธีการดูแลตัวเองหากป่วยเป็นโรคนี้กันค่ะ

โรคคิดไปเองว่าป่วย ทั้งที่ไม่มีอาการป่วยเลยแม้แต่นิด

โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) หาหมอกี่ครั้งก็ไม่หาย รักษายังไงเช็กได้ที่นี่

โรคคิดไปเองว่าป่วย คือโรคอะไรกันนะ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ โรคคิดไปเองว่าป่วย หรือ ไฮโปคอนดริเอซิส (Hypochondriasis) โรคดังกล่าวเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งมักจะมีความกังวลและวุ่นอยู่แต่กับปัญหาสุขภาพของตนเองมากเกินไป โดยอาจคิดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่า จะป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น กลัวว่าตุ่มหรือไฝบนร่างกายอาจจะเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง กลัวว่าอาการปวดท้องมีที่มาจากไส้ติ่งแตก หรือแค่ท้องผูกเพียงหนึ่งวัน ก็คิดไปแล้วว่าตัวเองน่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ เป็นต้น

ซึ่งตัวอย่างอาการข้างต้นของผู้ป่วยนั้น ไม่ได้มีอยู่จริง และหากเจ็บป่วยก็มักเกิดจากสาเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ทว่าคนไข้โรคคิดไปเองว่าป่วย มักจะไม่เชื่ออย่างนั้น และยังคงหมกมุ่นอยู่กับอาการป่วยของตัวเองจนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ในที่สุด

Advertisements

อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรค Hypochondriasis

โดยอาการของโรคคิดไปเองว่าป่วย เกิดจากความวิตกกังวลของคนไข้เอง โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกว่า ตัวเองป่วยจริง ๆ ไม่ได้แกล้งทำ ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้น ขณะที่บางรายมีอาการทางกายบางอย่าง แต่บางรายก็อาจไม่ได้มีอาการเลยก็ได้ เช่น ในช่วงดรคระบาดโควิด-19 ตนเองได้ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งตนเองไม่เกิดการป่วยใด ๆ แต่วิตกกังวลไปว่ามีอาการป่วย แล้วไปพบแพทย์ซ้ำ ๆ และได้ผลลัพธ์เดิมว่า แพทย์ตรวจแล้วไม่พบอาการป่วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคโรคคิดไปเองว่าป่วย จะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่บางรายอาจยังไม่ถึงขั้นส่งผลกระทบมากเท่าใดนัก นอกจากนี้ โรคคิดไปเองว่าป่วย สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือวัยผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี

นอกจากนี้ ผู้คนส่วนมากที่มีความกังวล จะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับโรคนั้น ๆ เช่น ผู้สูงอายุที่พบเห็นคนวัยเดียวกันเป็นโรคไตวาย ก็เกิดอาการวิตกกังวลว่าตนจะมีอาการไตวายเช่นกัน ไม่เพียงเท่านี้ การเป็นโรคของคนในครอบครัวก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความกังวล เช่น หากในครอบครัวมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง เมื่อเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย ก็อาจคิดไปเองว่ามีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งนั่นเอง

โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) หาหมอกี่ครั้งก็ไม่หาย รักษายังไงเช็กได้ที่นี่

วิธีการสังเกตตนเอง กำลังเผชิญกับโรคคิดไปเองว่าป่วย

วิธีการสังเกตตัวเองอย่างง่ายเลยว่าตอนนี้เรากำลังเป็น โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) หรือไม่คือ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพสูงมากแค่ไหน รวมถึงจำนวนครั้งที่เราไปพบแพทย์หลังจากที่เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย หรือไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคติดต่อโรคอื่น ๆ

เพราะคนทั่วไปหากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคอะไรอยู่ อาจดูอาการก่อน และหากไปพบแพทย์แล้วได้รับการวินิจฉัยว่าไม่มีความผิดปกติร้ายแรง หรือไปพบสองครั้งแล้วยังได้ผลการวินิจฉัยเช่นเดิม อาจจะเลิกพบแพทย์ไปในที่สุด แต่ถ้าหากมีการพบแพทย์ซ้ำมากกว่าสองครั้งขึ้นไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคคิดไปเองว่าป่วย

การวินิจฉัย โรคคิดไปเองว่าป่วย

ในส่วนของการวินิจฉัย โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) แพทย์จะมีการตรวจทั้งทางกายและทางใจร่วมกัน โดยก่อนอื่นต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าผูป่วยไม่ได้เป็นโรคที่กำลังวิตกกังวลอยู่จริง ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือถ้าหากตรวจพบตามอาการที่ผู้ป่วยบอก ก็ต้องแน่ใจก่อนว่าอาการนั้นไม่ใช่โรคร้าย เหมือนกันที่ผู้ป่วยกำลังกังวลอยู่

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลทางด้านร่างกายที่มากเกินไปจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยอาจเป็นโรคทางจิตเวชโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการใช้ยา แต่ถ้าหากตรวจจนแน่ใจแล้วว่า ผู้ป่วยไม่ได้ป่วยด้วยโรคจิตเวชชนิดอื่น ๆ อย่างที่กล่าวมา แพทย์จึงจะวินิจฉัยว่าคนไข้ป่วยเป็นโรคไฮโปคอนดริเอซิส ซึ่งพิจารณาวิธีรักษาต่อไป

วิธีการรักษา โรค Hypochondriasis

ในส่วนของวิธีการรักษาโรคคิดไปเองว่าป่วย โดยทั่วไปค่อนข้างยาก เพราะเกิดจากความกังวลของผู้ป่วยเอง ซึ่งต้องอาศัยท่าทีที่น่าเชื่อถือของแพทย์ในการรักษาร่วมด้วย หรืออาจอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงหรือเป็นโรคร้าย ขั้นต่อไปคือการให้ยาลดความวิตกกังวล รวมถึงรักษาทางใจผู้ป่วย โดยการปรับเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของผู้ป่วย เกี่ยวกับอาการป่วยที่ตนเองกังวลอยู่ ซึ่งในขั้นนี้จะเรียกว่า จิตบำบัด โดยคนรอบข้างต้องเข้าใจผู้ป่วย เช่นเดียวกับโรคจิตเวชโรคอื่น ๆ ด้วย

โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) หาหมอกี่ครั้งก็ไม่หาย รักษายังไงเช็กได้ที่นี่

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็น Hypochondriasis

ผู้ป่วยที่เป็นโรค Hypochondriasis นอกจากจะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แล้ว ยังสามารถดูแลตัวเองได้โดยการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า รวมถึงทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อฝึกจิตใจและเสิรมสร้างสมาธิให้ไม่ฟุ้งซ่าน เช่น ปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยผ่อนคลาย หรืออ่านหนังสือ โดยเลือกหนังสือเบา ๆ สบาย ๆ อ่านแล้วไม่หนักหัวจนเกินไป เช่น หนังสือนิยาย หนังสือธรรมะ หนังสือการ์ตูนเป้นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคคิดไปเองว่าป่วยอาจหาเวลาไปเที่ยวพักผ่อน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ตนเอง และอาจช่วยลดความวิตกกังวลจากโลกความจริงที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด หรืออาจทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เพื่อให้มีโอกาสได้พูดคุยปรึกษา หรือระบายสิ่งที่ตนเองวิตกกังวล ก็สามารถช่วยให้ความตึงเครียดให้ทุเลาลงได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็น โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) ที่จริง ๆ แล้วไม่ได้ป่วย แต่เราวิตกกังวลไปเอง ซึ่งเราก็ได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกท่านได้สังเกตอาการตนเอง รวมถึงวิธีการรักษา และวิธีการดูแลตัวเองหากต้องเผชิญกับโรคนี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะรักษายากแต่หากมีพลังใจที่ดีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ ผู้ป่วยโรคคิดไปเองว่าป่วย ก็อาจรักษาหายได้ในที่สุดค่ะ อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองกันด้วยนะคะ

โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) หาหมอกี่ครั้งก็ไม่หาย รักษายังไงเช็กได้ที่นี่

อ้างอิง : 1

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button