มีประโยชน์ “เภสัชกร” อธิบายการทำงาน หลังเจอคนไข้โวย บริการช้า-ต้องรอทั้งวัน
เภสัชกร อธิบาย ห้องยาโรงพยาบาล ทำงานกันนยังไงบ้าง หลังเจอคนไข้โพสต์เฟซบุ๊กโวย รอรับบริการนาน แถมไล่ หากไม่ทำ ให้เชิญออก แจ้งเตือนระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะล่ม ทุกวิชาชีพขาดแคลนคนมาก
วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ภก.วัชรินทร์ เเท่งทอง กรรมการสภาเภสัชกรรม (ประเทศไทย) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเป็นการออกมาเปิดเผปผยรายละเอียดของขั้นตอนการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่ของคุลากรภายในห้องยาของโรงพยาบาล
โดยระบุว่า “จากสถานการณ์ของ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) รายหนึ่ง สื่อสารเกี่ยวกับการรอรับบริการเป็นเวลานาน ซึ่งในส่วนนี้ผมเองไม่มีข้อมูลในรายละเอียดในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องนั้น”
“ทั้งนี้ขอใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารให้กับประชาชนได้ทราบถึง กระบวนการทำงานภายในห้องยา หลังเคาน์เตอร์ช่องจ่ายยา ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายของการมารับบริการ ที่โรงพยาบาลและทุกคนในโรงพยาบาล ต่างมารวมกันโดยมิได้นัดหมายในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะห้องยาส่วนใหญ่มีเพียง 1 ห้องเท่านั้น ในแต่ละโรงพยาบาล กระบวนการของห้องจ่ายยา ตามขั้นตอน ดังนี้”
1. คนไข้ยื่นบัตรคิว/ใบสั่งยา
กระบวนการนี้ เป็นขั้นตอนหลังจากที่คนไข้ตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์สั่งยาแล้ว เมื่อห้องยาได้รับใบสั่งยา จะ key ข้อมูล HN ของคนไข้ เพื่อตรวจสอบสิทธิรักษาของคนไข้ว่าเป็นสิทธิรักษาอะไร สิทธินั้นครอบคลุมรายการยาหรือไม่ จ่ายเงินหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งหากต้องติดต่อชำระเงิน และเช็กสิทธิ ห้องยาต้องส่งข้อมูล ประสานข้อมูลจนกว่าจะเสร็จสิ้น จึงจะผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ (กรณีส่งตรวจสอบสิทธิถ้าไม่มีคิว ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที)
2. ขั้นตอนของการจัดยา (pre-dispensing)
ขั้นตอนที่พี่เจ้าพนักงานเภสัชกรรม จัดยาตามรายการยาในใบสั่งยา ซึ่งในขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากพอสมควร รายการยานั้น ต้องตรงกับฉลากยา จำนวนของรายการยา ต้องเพียงพอต่อวันนัด ถ้ายาไม่มีใน stock ต้องประสานคลังเวชภัณฑ์ตัดเบิกขึ้นมา หรือยืมยา ซื้อยา กับโรงพยาบาลข้างเคียง หรือในเครือข่ายเขตสุขภาพ
ถ้ารายการยามีหลายรายการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตามแผนการรักษานั้น จำเป็นต้องใช้ยาจำนวนมาก 10-20 รายการ ต่อคน จึงต้องใช้เวลานานมากพอสมควร (เฉลี่ย 10-30 นาที) หากระหว่างการจัดยานี้ มีเบิกยาด่วน ในการช่วยชีวิตคนไข้ฉุกเฉิน จากห้องฉุกเฉิน หรือหอผู้ป่วย ส่วนนี้จะถูกแทรกคิวขึ้นมาเป็นลำดับแรก และคนไข้ที่อยู่ระหว่างจัดยานั้น จะต้องใช้ระยะเวลาในการรอคอยที่นานขึ้น คนไข้คนอื่นคิวต่อๆ ไปก็จะขยับเวลาออกไปเช่นกัน
3. ขั้นตอนการจ่ายยา (dispensing error)
ขั้นตอนการจ่ายยานี้ ตามมาตรฐานวิชาชีพ ตามมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล จะให้ความสำคัญกับจุดนี้มาก เพราะเป็น safety final ซึ่งคือจุดสุดท้าย ที่ยาจะถึงมือคนไข้ ถ้ายาที่ได้รับไปนั้นมันไม่ถูกต้อง คนไข้จะได้รับอันตรายถึงชีวิตเลยก็เป็นได้ ดังนั้น ขั้นตอนนี้ ถ้าในโรงพยาบาลที่พอมีกำลังคน (ต้องใช้คำว่า พอจะมีคนทำงาน) จะมีกระบวนการที่เรียกว่า Double check โดยเภสัชกร คนที่ 1 ก่อน
หากพบว่าเกิด medication errors (ความคลาดเคลื่อนทางยา) ไม่ว่าจะเป็น จัดยาผิดชนิดหรือความแรง จำนวนเม็ดยาไม่เพียงพอ สั่งยาผิดชนิดหรือผิดความแรง กระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะถูกตีกลับ และไปเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แน่นอนครับ แล้วระยะเวลาจะนานมากขึ้นไปกว่าเดิม (คนเก่ารอนานขึ้น คนใหม่รอเพิ่มไปอีก)
ดังที่เคยกล่าวไปแล้วในเรื่อง ความคลาดเคลื่อนทางการแพทย์ ขั้นตอนทั้งหมดที่เล่ามานั้น เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติ หากแต่สถานการณ์ เภสัชกรท่านหนึ่งลาพักผ่อน เภสัชกรท่านหนึ่งไปประชุม จำนวนของผู้ปฏิบัติงานจริงจะลดลง และในปัจจุบัน ตลอดจนแนวโน้มของอนาคต
คือเภสัชกรลาออกกันมากขึ้น เภสัชไม่เข้าสู่ระบบในการใช้ทุนมากขึ้น และเภสัชกรที่ทำงานในระบบนั้น จะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งในโรงพยาบาลประจำอำเภอส่วนใหญ่ ทั้งประเทศไทยในตอนนี้ ไม่มี ระบบ checker โดยเภสัชกรคนที่ 1 เพราะเรามีเพียงเภสัชกรคนเดียวที่ทำ checker 1 เเละ dispensing รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในห้องยาด้วยอัตรากำลังนับ 1 คน
4. จ่ายยาโดยเภสัชกร (dispensing)
ในทุกขั้นตอนที่เล่ามานั้น เป็นภาพที่เกิดขึ้นภายในห้องยาที่ใช้เวลานานมาก ที่คนไข้ที่รอรับบริการ จะมองเห็นเพียงว่า หน้าช่องจ่ายยาที่ไม่มีคนให้บริการ หรือมีคนให้บริการนั้น ภาระงานไม่ได้ load มาก เพราะเมื่อท่านมารับบริการที่ช่องจ่ายยา เภสัชกรและทีมงานเภสัชกรรมห้องจ่ายยานั้น ได้ทำทุกอย่าง เตรียมยาที่ผ่านทุกขั้นตอน พร้อมให้บริการกับท่านแล้ว อย่างที่บอก แม้แต่ละขั้นตอน จะเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อมาถึงการจ่ายยา ซึ่งคนไข้คนที่รอคิวอยู่แล้วนั้นมีจำนวนมาก
เราเองก็จะจำเป็นต้องจ่ายยาด้วยความรวดเร็ว ในระยะเวลาเร่งรีบและมีจำกัด เพื่อให้คนไข้ได้รับบริการที่รวดเร็ว ตามมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และปลอดภัยมากที่สุด ในขณะที่ทุกคนมารับบริการพร้อมกันที่ห้องยาเลย
อีกเรื่องที่สำคัญ ที่บอกว่า “ไม่ทำเชิญออก มีคนว่างงาน อยากทำงานเต็มบ้านเต็มเมือง” ต้องบอกแบบนี้ว่า ปัจจุบันตำแหน่งว่างมากกว่าตำแหน่งผู้ประสงค์เข้าใช้ทุนในระบบทุกวิชาชีพเลยนะ ทั้งเเพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เเละที่สำคัญไม่ใช่ใครก็มาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ต้องเป็นเภสัชกรที่มีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ต้องเป็นเเพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่ใช่ใครก็มาทำได้เลย
วันนี้เป็นหนึ่งเสียง ที่อยากจะพูดแทนเภสัชกรโรงพยาบาลในการสื่อสารขั้นตอน และกระบวนการทำงานของห้องจ่ายยา ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการทุกท่านได้เข้าถึง และเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ว่าทำไมใช้เวลานาน ซึ่งขอพูดแทนบุคลากรทางการแพทย์ ทุกๆสาขาวิชาชีพด้วย
ส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ต้องดูทีละประเด็น หาสาเหตุราก การจ่ายยา Root-cause analysis เป็นประเด็นๆ ไป ทำไมประชาชนถึงได้สื่อสารออกมาผ่าน FB หรือ social media ต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ หลักๆ ในด้านนี้ ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องของการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนไป ซึ่งสำคัญมาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันต่อการทำงานในรูปแบบต่างๆ ในทุกระดับเลย
แต่ถ้ามองประเด็นการแก้ไขปัญหา ให้กับคนทำงาน จากสถานการณ์แพทย์ลาออกจำนวนมาก เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ในระบบสาธารณสุขแต่ละโรงพยาบาลต้องยอมรับ ว่ากระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกันในวิชาชีพต่างๆ ที่ให้บริการนั้น ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งรวมถึงประชาชนอันเป็นเป้าหลักสำคัญของนโยบายกระทรวงสาธารณสุข
ในช่วงเวลาต่อมา ไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้น เภสัชกร การใช้ทุนในปีนี้ มีตำแหน่งว่างมากกว่าผู้ประสงค์เข้ามาใช้ทุนในระบบของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงทันตแพทย์ด้วยเช่นกัน ปัญหาคนที่มีไม่พอ มันก็ส่วนหนึ่ง ปัญหาสำคัญมันคือ ค่าตอบแทน ภาระงาน และความก้าวหน้า career path ในสายงานนั้นๆ ซึ่งมันเกี่ยวเนื่อง อ.กพ. สำนักงบประมาณ และต่างๆ อีกมากมาย ระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะล่มเเล้ว
ผมเห็นว่าการแก้ไขที่ดีมากที่สุดในเวลานี้ รักษาคนใน ด้วยการแก้ไขระบบภายใน ที่คนทำงานต่างๆ ร่วมกันสะท้อนออกมากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง กฎหมายแรงงาน ที่คุ้มครองคนทำงาน คนทำงานก็ต้องการสิ่งนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
เอาหมวกทุกใบของทุกคนออกไปก่อน ไม่ว่าคุณจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล กระทรวงฯ สุข ประชาชน หรือใครก็ตาม เพื่อการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่ามันคือ “เรื่องเดียวกัน” ที่เชื่อมกันมาโดยตลอด หวังว่าโพสต์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจในขั้นตอนและกระบวนการของการทำงานในห้องยา.
- เภสัชกร จัดยายายแบบใหม่ รับประกันไม่มีทานผิด
- เภสัชกรลงทุนเปิดร้านยา ทั้งวันเจอลูกค้าเท่านี้
- รีวิว เภสัชกรร้านยาติดโควิด ทำ Home Isolation