ส่งรถไม่ไหว อยากคืนรถ แนะนำวิธีปรับโครงสร้างหนี้ “ผ่อนรถต่อไม่ไหว” จะคืนรถให้ไฟแนนซ์อย่างไรได้บ้าง คืนเงิน คืนรถ หรือหาคนผ่อนต่อ เลือกแบบไหนเจ็บตัวน้อยสุด
เปิดวิธีแก้ปัญหาปรับโครงหน้าหนี้สินทางการเงิน “หากผ่อนรถต่อไม่ไหว“ ไม่อยากส่งเงินแล้ว อยากคืนรถให้ไฟแนนซ์เลยได้ไหม แนะนำแนวทางการแก้ปัญหาแบบถูกกฎหมาย ไม่ต้องติดแบล็กลิสต์ และไม่ติดเครดิตบูโร พร้อมฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีหนี้สินดองให้ปวดหัว
ทีมข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดอะไทยเกอร์ ได้รวบรวมข้อมูล เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับใครที่ต้องการแก้ปัญหา การผ่อนรถไม่ไหว หรือ ส่งต่อรถไม่ไหว และต้องการคืนรถที่ยังผ่อนไม่เสร็จให้ “ไฟแนนซ์” เป็นคนจัดการต้องทำอย่างไรบ้าง เช็กรายละเอียดได้แล้วที่นี่ครับ
เทคนิคพิชิตหนี้ “ผ่อนรถไม่ไหว” และต้องคืนรถให้ไฟแนนซ์
หากรถยนต์ของเราที่ยังผ่อนไม่เสร็จและไม่ต้องการส่งต่อแล้ว มีมูลค่าต่ำกว่าราคาตลาด แนะนำให้ลูกหนี้พิจารณาตัดใจ เพื่อลดภาระด้วยการ “คืนรถให้แก่ไฟแนนซ์” หรือ “ขายแบบขาดทุน” สำหรับลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ต่ำที่สุด
ทั้งนี้ การชะลอการส่งมอบรถคืน จะทำให้ไฟแนนซ์ขาดทุนจากการขายทอดตลาด เพราะราคาที่ตกต่ำลงตามอายุของรถ ซึ่งลักษณะแบบนี้จะส่งผลให้ลูกหนี้ มีภาระค่าเสียหายที่สูงขึ้นด้วยนั่นเองครับ เพราะการส่งมอบรถคืนไฟแนนซ์ คือ การแสดงให้เห็นว่า ลูกหนี้ มีความตั้งใจในการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ สามารถการเจรจาเพื่อขอความเมตตาเห็นอกเห็นใจ ในการขอผ่อนชำระค่าเสียหายที่ลดลง หรือขอส่วนลดให้มากขึ้นเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินที่มีอยู่
ส่วนกรณีที่ มูลค่ารถยนต์สูงกว่าหนี้ ควรพิจารณาใหกับขายเต็นท์ หรือขายดาวน์ เพื่อให้ผู้ซื้อรายใหม่มารับโอนสัญญาเช่าซื้อไปผ่อนต่อ อย่างไรก็ตาม การโอนสัญญาเช่าซื้อ มีข้อดีคือ ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน อันเนื่องมาจากค่างวดเดิม มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่แล้ว และดีกว่าการปิดบัญชีเดิม หรือไปกู้ใหม่
เพราะจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตอนปิดบัญชีหนึ่งครั้ง หลังจากเมื่อกู้ใหม่ก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง อีกทั้งยังเป็นการรักษาประวัติเครดิตของผู้กู้ได้อีกทางหนึ่งด้วยครับ
เตรียมหลักฐานสัญญา ซื้อ-ขาย หากผ่อนรถไม่ไหว
เริ่มต้นจากการตรวจดูความสามารถในการผ่อนว่า เรามีความสามารถเพียงพอในการ “ผ่อนรถ” ได้นานแค่ไหน รวมไปถึงช่วงเวลาที่จะตกอยู่ในภาวะเงินฝืด
จากนั้นให้เตรียมข้อมูลผลกระทบที่ได้รับ และหลักฐานประกอบ เช่น หลักฐานแสดงรายได้, ค่าใช้จ่ายก่อน และหลังได้รับผลกระทบ, หลักฐานการเปลี่ยนสัญญา ฯลฯ เพื่อตรวจสอบดูว่ามูลค่ารถยนต์ที่เป็นหลักประกันมีราคาสูง หรือต่ำกว่าภาระหนี้แค่ไหน เช่น รถเก๋งยี่ห้อ ก. ราคา ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 บาท ยอดหนี้คงค้างกับไฟแนนซ์ คือ 250,000 บาท เป็นต้น
ต่อมาให้ รุดเร่งติดต่อสอบถามสถาบันการเงิน หรือ “ไฟแนนซ์” เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ เช่น
- การปรับลดค่างวด
- ยืดเวลาการผ่อนออกไป
แล้วให้ทำการเสนอ “การผ่อนชำระแบบขั้นบันได” หรือก็คือ ผ่อนจำนวนน้อยในช่วงที่มีปัญหา แล้วจึงค่อยปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อปัญหาคลี่คลายลง ให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระรถ
อย่างไรก็ตามยังมีข้อพึงสังเกตอีกอย่างคือ การขยายระยะการผ่อนออกไปจะส่งผลให้ภาระจำนวนดอกเบี้ยมีจำนวนสูงมากขึ้นด้วย ส่วนค่างวดจะปรับลดลงได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมูลค่าของรถยนต์ และความสามารถในการผ่อนมาเป็นอันดับต้น ๆ
แนวทางการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ จึงควรรีบนำเข้าสู่กระบวนการ ก่อนที่จะเริ่มค้างชำระเพื่อเป็นการรักษาประวัติเครดิตของตนเองที่จะปรากฏอยู่ในข้อมูลของบริษัท และข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ “เครดิตบูโร”
กรณีหนี้รถกลายเป็น NPL
กรณีหนี้รถกลายเป็น NPL และไม่ต้องการคืนรถ ไฟแนนซ์ จะทำการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และใช้สิทธิ์เข้าครอบครอง หรือยึดรถ โดยมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายในการยึด หรือนำรถกลับคืนเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย
และในเคสที่มี การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกรถคืน เพราะไฟแนนซ์ ไม่สามารถติดตามนำรถกลับมาได้ เมื่อศาลพิพากษาแล้ว สถาบันการเงินจะทำการสืบทรัพย์อื่นใดที่ลูกหนี้มี จากนั้นจะมีการร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์นั้นมาจำหน่าย เพื่อนำเงินมาชดเชยหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
ส่งผลทำให้กประวัติข้อมูลเครดิตเสียหายและยังมีโอกาสสูญเสียทรัพย์อื่น ๆ ของทั้งตัวลูกหนี้เอง และผู้ค้ำประกัน ดังนั้น วิธีการที่ทำให้เราเจ็บน้อยที่สุดหากไม่ต้องการส่งต่อรถแล้ว
ควรติดต่อกับสถาบันการเงิน หรือไฟแนนซ์ ให้เร็วที่สุด แต่ถ้าหากการเจรจาไม่เป็นผล แนะนำให้ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย ทางด่วนแก้หนี้ หรือโทร. 1213
อ้างอิง : 1