ท่องเที่ยว

แห่เทียนพรรษา 2566 เปิดที่มา ไฮไลต์เด่นงานประเพณี เมืองอุบล-โคราช อิ่มบุญอิ่มใจ

“แห่เทียนเข้าพรรษา 2566” กิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา เปิดที่มาความตระการตาของงานแห่เทียนสุดยิ่งใหญ่ พุทธศาสนิกชนไทย ร่วมใจสร้างอานิสงค์ ในเดือนสิงหาคม รับบุญใหญ่ในครึ่งปีหลัง เตรียมรับชมงานประเพณี เมืองอุบล-โคราช

วนกลับมาอีกปีแล้ว กับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ “วันเข้าพรรษา” ที่มีประเพณีเด่นอย่าง “แห่เทียนพรรษา” ซึ่งในปี 2566 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม 2566 โดยวันเข้าพรรษานี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล และลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน และไม่เพียงแต่ประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น

วันเข้าพรรษา ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนประกอบกิจกรรมมากมาย โดยมีหลายสถานที่ได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับวันเข้าพรรษา ทั้งการทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และโดยเฉพาะ ประเพณีการหล่อเทียนพรรษา และ แห่เทียนเข้าพรรษา สุดยิ่งใหญ่ตระการตา

วันเข้าพรรษา 2566 ที่มายาวนาน แต่ประเพณีงามไม่จางหาย

อย่างที่กล่าวไปว่า วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศานาที่มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล และสืบทอดมาจนปัจจุบัน วันนี้ทีมงาน Thaiger จะพาทุกท่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมและประเพณีในวันเข้าพรรษานี้ว่า ประเพณีการหล่อเทียนพรรษา และ แห่เทียนเข้าพรรษา มีประวัติความเป็นมา และมีอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเพณีนี้บ้างค่ะ

เข้าพรรษา 2566 ร่วมหล่อเทียนพรรษา ตระการตาขบวนแห่ สุดยิ่งใหญ่

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

ก่อนอื่นเรามาดูที่มาของ วันเข้าพรรษา กันก่อนค่ะ วันเข้าพรรษาถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา ในอดีตสมัยพุทธกาล วันเข้าพรรษาไม่ได้ถูกกำหนดการจำพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์ แต่มาถูกกำหนดในภายหลัง เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเวลาการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านทั่วไป

ตามปกติแล้วพระสงฆ์ต้องออกบิณฑบาตรในตอนเช้า และได้เดินเหยียบย่ำไปบนพืชผักที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้ในฤดูฝน ส่วนสัตว์น้อยใหญ่ที่ออกหากินบนผิวดินนั้น ก็ถูกเหยียบย่ำไปด้วยเช่นกัน

และเมื่อผลผลิตถูกเหยียบย่ำจนไม่เหลือชิ้นดี ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เรื่องนี้ก็ร้อนถึงหูของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดพระธรรมวินัยบัญญัติเรื่องวันเข้าพรรษาไว้ เพื่อให้ภิกษุจำพรรษาอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน ตลอดระยะเวลาฤดูฝน เพื่อไม่ให้ผลผลิตของชาวบ้านได้รับความเสียหายอีก

หลังจากนั้นมา ก็เกิดเป็น วันเข้าพรรษา ที่เป็นประเพณีที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเราจะเริ่มนับวันเข้าพรรษาแรก หรือปุริมพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือหากปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษา หรือปัจฉิมพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งในปี 2566 นี้ วันเข้าพรรษา จะตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม 2566 นั่นเอง

กิจกรรม “หล่อเทียน” ในวันเข้าพรรษา

หากเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รับศีลรับพรใช่ไหมคะ แต่ในวันเข้าพรรษานี้ มีกิจกรรมเด่นที่ใคร ๆ ต่างก็นึกถึง นั่นก็คือ “การหล่อเทียนพรรษา”

ตามปกติแล้ว ในวันธรรมดาหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันอื่น ๆ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะถวายปัจจัยที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ทั่ว ๆ ไป อาทิ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยารักษาโรค หรือจีวร แต่ในวันเข้าพรรษาจะมีการถวายเทียนพรรษาร่วมด้วย ซึ่งถือว่าพิเศษกว่าวันอื่น ๆ ทีเดียวค่ะ

โดยสาเหตุที่ต้องถวายเทียนพรรษาเป็นเพราะว่า ในอดีตการไฟฟ้ายังไม่ได้เข้าถึงทุกภาคส่วน เหมือนเช่นในปัจจุบัน แล้วพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนาน ๆ ก็จะใช้แต่เทียนเล่มเล็ก ๆ ตลอดไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงต้องถวายเทียนพรรษา ซึ่งเป็นเทียนขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถใช้เป็นแสงสว่างได้นาน ตลอดช่วงฤดูฝนนั่นเองค่ะ

ต้องขอเกริ่นก่อนว่า สมัยก่อนชาวบ้านจะเทียนเล่มเล็ก ๆ หลายเล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคลายกับต้นกล้วย ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกกันว่า ต้นเทียน หรือต้นเทียนพรรษา แต่การนำเทียนมามัดต่อ ๆ กันอาจจะดูธรรมดาเกินไป ต่อมาจึงได้มีการตกแต่งต้นเทียนขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยในตอนแรกจะเป็นการนำขี้ผึ้งลนไฟมาปั้นเป็นรูปกลีบลำดวน แล้วนำมาติดกับต้นเทียนพรรษา แต่ภายหลังก็ประยุกต์เป็นพิมพ์หล่อ เพื่อความสะดวกแทน

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิด การหล่อเทียนพรรษา ในรูปแบบที่เราพบเห็นอย่างเช่นในปัจจุบัน แทนการนำเทียนเล่มเล็กมามัดรวมกันเป็นต้นเทียนพรรษา ซึ่งทางวัดหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่จัดกิจกรรมดังกล่าว จะจัดเตรียมพื้นที่ และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการหล่อเทียนพรรษา อาทิ ขี้ผึ้ง ไส้เทียน เบ้าหล่อเทียนพรรษา กระทะ ที่ตักเทียน โดยปกติแล้วก็จะมีกระทะใส่ขี้ผึ้งวางอยู่บนเตาอั้งโล่ เพื่อให้ผู้มาเข้าร่วมสามารถตักขี้ผึ้งเหลว ใส่ลงในแท่นหล่อเทียนได้ค่ะ

และเมื่อถึงเวลาหล่อเทียน มักนิมนต์พระภิกษุจำนวน 9 รูป มาทำพิธีสวดชัยมงคลคาถา โดยผู้เข้าร่วมจะหล่อเทียนไปเรื่อย ๆ ในขณะที่พระภิกษุสวดคาถาไปด้วยค่ะ และหลังจากที่เทียนที่หล่อไปเย็นสนิทและแข็งตัวแล้ว ก็จะถูกแกะออกจากเบ้าหล่อ เพื่อนำไปแกะสลักหรือตกแต่งให้สวยงาม จนได้เวลาเหมาะสมจึงจัดริ้วขบวนแห่เทียนไปถวายที่วัดต่อไป

เข้าพรรษา 2566 ร่วมหล่อเทียนพรรษา ตระการตาขบวนแห่ สุดยิ่งใหญ่

สานต่อมาเป็น “แห่เทียนพรรษา”

หลังจากที่หล่อเทียนพรรษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านหรือพุทธศาสนิกชนต้องนำเทียนเล่มดังกล่าวไปถวายพระภิกษุที่วัด ดังนั้น จึงเกิดประเพณี “การแห่เทียนพรรษา” ขึ้นมา

โดยประเพณีดังกล่าว เป็นงานประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันธ์ของคนในท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากการรวมตัวกัน เพื่อร่วมหล่อเทียนพรรษา ในวันเข้าพรรษา เปรียบเสมือนการสร้างบุญร่วมกัน ไปพร้อม ๆ กับการเฉลิมฉลองที่จะเข้าสู่ฤดูกาลทำเกษตรกรรม

ประเพณีแห่เทียนพรรษา 2566 อุบลราชธานีและโคราช

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดงานประเพณี แห่เทียนพรรษา ที่ยิ่งใหญ่สุดตระการตาตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น ประเพณี แห่เทียนเข้าพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี อย่างที่ใครหลาย ๆ คนทราบว่าประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีขบวนแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ และมีการจัดการประกวดแกะสลักแห่เทียนพรรษาแทบทุกปี

โดยวันเข้าพรรษา ปี 2566 นี้ มีกำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 31-3 สิงหาคม 2566 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม มีเทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน ที่จัดระหว่างวันที่ 4-31 สิงหาคม 2566 อีกด้วย

โดยประเพณี แห่เทียนเข้าพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธา จัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “122 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” ณ บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง ถนนรอบทุ่งศรีเมือง โดยมีกิจกรรมเด่น ดังนี้

    • วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 การประกวดนางงามเทียนพรรษา
    • วันที่ 1-2 สิงหาคม 2566 การประกวดต้นเทียนพรรษา
    • วันที่ 1 สิงหาคม 2566 วันรวมเทียน (วันอาสาฬหบูชา)
    • วันที่ 2 สิงหาคม 2566 วันแห่เทียน (วันเข้าพรรษา)
    • วันที่ 3 สิงหาคม 2566 วันโชว์เทียน (ชนะเลิศ รองชนะเลิศ)

นอกจากนี้ จังหวัดนครราชสีมา ก็ได้จัดประเพณีแห่เทียนพรรษาด้วยเช่นกัน โดยจัดภายใต้ชื่องาน “แสงเทียนแห่งศรัทธา แห่เทียนพรรษาเมืองโคราช” Korat : The City of Candle Light ณ บริเวณรอบลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีกำหนดการเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1-4 สิงหาคม 2566

โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถชมต้นเทียนพรรษาและการแกะสลักประติมากรรมพุทธศิลป์ ของช่างเทียนแห่งโคราชสยาม ได้ตั้งแต่วันที่ 1-2 สิงหาคม 2566 และชมต้นเทียนพรรษา วัดใหม่สระประทุม วัดนอก วัดใน วัดโบสถ์คงคาล้อม วัดเดิม ได้ตั้งแต่วันที่ 3-4 สิงหาคม 2566 นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงดนตรี จากคณะดนตรีต่าง ๆ มาให้ผู้ร่วมงานได้รับชมตลอดทั้ง 4 วันอีกด้วย

เข้าพรรษา 2566 ร่วมหล่อเทียนพรรษา ตระการตาขบวนแห่ สุดยิ่งใหญ่

อาจกล่าวได้ว่า วันเข้าพรรษา ไม่ได้เป็นเพียงวันสำคัยทางพระพุทธศานาเท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่พุทธศานิกชนและคนทั่วไปมารวมตัวกัน เพื่อประกอบศาสนพิธีและประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ฟังธรรมเทศนา การหล่อเทียนพรรษา การแสดงฝีมือในการแกะสลักต้นเทียนพรรษา การเข้าร่วมการประกวดนางงามเทียนพรรษา รวมถึงการมาร่วมสนุกกับความบันเทิงในรูปแบบดนตรีและการแสดง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ ประเพณีการหล่อเทียนพรรษา และประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นกิจกรรมที่ดีงาม เพราะนอกจากพุทธศาสนิกชนจะได้สร้างบุญกุศล จากการถวายต้นเทียนพรรษาแด่พระภิกษุแล้ว ยังได้สานสัมพันธ์ร่วมกันกับคนในชุนชนเดียวกัน หรือชุมชนท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ได้ไปร่วมงาน

ทั้งยังได้ความสามัคคีในการร่วมกันสร้างต้นเทียนพรรษาให้บรรลุผลสำเร็จ ดังนั้น ควรสืบสานประเพณีดังกล่าวให้คงอยู่สืบต่อไปในอนาคตค่ะ

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button