ข่าว

‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ คือใคร รู้จักองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐ

ชวนรู้จักองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ คือใคร มีตำแหน่งและหน้าที่สำคัญต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้าง เหตุใดจึงมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

จากกรณีที่ พ.ต.ท. กีรป กฤตธีรนนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงถึงการประชุมกรณีการยื่นเรื่องให้พิจารณาว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติซ้ำ ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 เนื่องจากจะมีการประชุมเพื่อโหวตนายกฯ อีกครั้ง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 และได้ขอให้ศาลกำหนดมาตรการวิธีการชั่วคราว เพื่อขอให้ชะลอการให้ความเห็นชอบ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกไปก่อน

เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ คือใคร ทำหน้าที่ใดบ้างจึงมีสิทธิที่จะขอชะลอการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2566 วันนี้ทีมงาน Thaiger จะขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน หน้าที่อันมีเกียรติที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินมากขึ้น ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านพร้อมกันได้เลย

ผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผู้ได้รับการยอมรับจากประชาชน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยใช้ชื่อว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยการสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้ารที่ การปฏิบัติตามกฎหมายหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมให้ประชาชน

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะหรือให้คำแนะนำเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรม ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พทุธศักราช 2550

ผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวนทั้งสิ้น 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้ มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552

ผู้ตรวจตราแผ่นดิน คือใคร
ภาพจาก Facebook Page : สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

คุณสมบัติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอะไรบ้าง

1. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด

2. อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีบริบูรณ์ในวันสมัคร

3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการแผ่นดิน

1. ไม่เคยเป็นผู้ตรวจตราแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

2. ไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

3. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกท้องถิ่น

4. ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือผู้มีตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะ 3 ปีก่อนวันสมัคร

5. ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

6. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

7. ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

8. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

9. ไม่เคยถูกวินิจฉัยหรือมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ

10. ไม่เคยถูกถอนจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ

11. ไม่เคยติดยาเสพติดให้โทษ

12. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอะไรบ้าง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 230 ไว้ดังนี้

1. เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

2. แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรม

3. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ

ในปัจจุบันมีผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีใครบ้าง
ภาพจาก : สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button