ช่วงนี้ข่าวการเมืองกำลังร้อนแรง สื่อหลายสำนักจะตั้งพาดหัวข่าวถึง “สภาผู้แทนราษฎร” หรือ “สมาชิกวุฒิสภา” ก็อาจจะต้องใช้ตัวย่อเพื่อไม่ให้พาดหัวข่าวยาวจนเกินไป ซึ่งสื่อหลาย ๆ สำนักมักจะเขียนคำย่อเป็น ส.ส. และ ส.ว. แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว สภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ย่อว่า ส.ส. และ สมาชิกวุฒิสภา ไม่ได้ย่อว่า ส.ว.
งานนี้หลายคนถึงกับต้องเอามือทาบอก ที่ผ่านมาเราใช้คำย่อเรียก สภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา ผิดมาโดยตลอดหรือนี่? แล้วคำย่อที่ถูกต้องคือการย่อแบบไหนกันแน่ วันนี้เดอะไทยเกอร์ไม่รอช้า ขอพาผู้ใช้ภาษาไทยทุกท่านไปทบทวนบทเรียนเรื่อง การการใช้คำย่อ
โดยอ้างอิงจาก “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2551 โดยสรุปหลักเกณ์การย่อคำออกได้ 10 ข้อ ดังนี้
หลักเกณฑ์ ‘การเขียนคำย่อ’ ฉบับราชบัณฑิตฯ ส.ส.-ส.ว. ย่อยังไงให้ถูก
ในหนังสือ “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2551 ระบุหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อไว้ท้ายเล่มของหนังสือ โดยสามารถสรุปออกมาเป็น 10 ข้อ ได้ตามนี้
1. ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกของคำเป็นตัวย่อ โดยถ้าเป็นคำคำเดียวให้ใช้ตัวย่อตัวเดียว แม้ว่าคำนั้นจะมีหลายพยางค์ เช่น 5 วา = 5 ว. จังหวัด = จ. หรือถ้าใช้ตัวย่อตัวเดียวแล้วทำให้สับสนอาจใช้พยัญชนะต้นของคำถัดไปเป็นตัวย่อด้วยก็ได้ เช่น ทหารบก = ทบ. ตำรวจ = ตร. อัยการ = อก.
2. ถ้าเป็นคำสมาสให้ถือเป็นคำเดียว และใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกเพียงตัวเดียว เช่น มหาวิทยาลัย = ม.
3. ถ้าเป็นคำประสม ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำ เช่น ชั่วโมง = ชม. โรงเรียน = รร.
4. ถ้าคำประสมประกอบด้วยคำหลายคำ มีความยาวมาก อาจเลือกเฉพาะพยัญชนะต้นของคำที่เป็นใจความสำคัญ ทั้งนี้อักษรย่อรวมแล้วไม่ควรเกิน 4 ตัว เช่น คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ = กปร. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน = สพฐ.
5. ถ้าใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำแล้วทำให้เกิดความสับสน ให้ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์ถัดไปแทน เช่น พระราชกำหนด = พ.ร.ก. พระราชกฤษฎีกา = พ.ร.ฎ.
6. ถ้าพยางค์ที่มี ห เป็นอักษรนำ เช่น หญ หล ให้ใช้พยัญชนะตัวที่ออกเสียงเป็นตัวย่อ เช่น สารวัตรใหญ่ = สวญ. ทางหลวง = ทล.
7. คำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรควบกล้ำหรืออักษรนำ ให้ใช้อักษรตัวหน้าตัวเดียว เช่น ประกาศนียบัตร = ป. ถนน = ถ.
8. ตัวย่อไม่ควรใช้สระ ยกเว้นคำที่เคยใช้มาก่อนแล้ว เช่น เมษายน = เม.ย. โทรศัพท์ = โทร. เสนาธิการ = เสธ.
9. ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้มาก่อนแล้ว เช่น ตำบล = ต. รองศาสตราจารย์ = รศ. พุทธศักราช = พ.ศ.
10. เว้นวรรคเล็กหน้าตัวย่อทุกแบบ และเว้นวรรคระหว่างกลุ่มอักษรย่อ
ดังนั้นแล้ว สำหรับคำว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “สมาชิกวุฒิสภา” เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าเป็นคำประสม ซึ่งเข้ากับหลักเกณฑ์การย่อคำในข้อที่ 3 และข้อที่ 9 คือ
- ถ้าเป็นคำประสม ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำ เช่น ชั่วโมง = ชม. โรงเรียน = รร.
- ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้มาก่อนแล้ว เช่น ตำบล = ต. รองศาสตราจารย์ = รศ. พุทธศักราช = พ.ศ.
อักษรย่อ ส.ว. และ ส.ส. ที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะใช้คำย่อว่า สส. และ สมาชิกวุฒิสภา จะใช้คำย่อว่า สว. เนื่องจากเป็นคำประสมจึงต้องใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำมาเขียนเป็นคำย่อ และไม่ได้เป็นคำที่ใช้มาก่อน (เช่น พุทธศักราช ย่อว่า พ.ศ.) หรือเป็นชื่อเฉพาะ หรือเป็นคำย่อที่ใช้ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงจะใส่จุดไว้ที่พยัญชนะตัวสุดท้ายเพียงตัวเดียว
ทั้งนี้ในส่วนของการอ่านคำย่อต้องอ่านเต็ม ยกเว้นกรณีที่คำเต็มนั้นยาวมากและคำย่อนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว อาจอ่านตัวย่อเรียงตัวไปก็ได้ เช่น ก.พ. อ่านว่า กอ-พอ เป็นต้น