ข่าว

นักวิชาการเตือน มวลน้ำร้อนใหญ่ผิดปกติ เอลนีโญ เคลื่อนที่จ่อปากอ่าวไทยแล้ว

นักวิชาการทะเลเตือน มวลน้ำร้อนใหญ่ผิดปกติ ‘เอลนีโญ’ เคลื่อนที่จ่อปากอ่าวไทยแล้ว ชี้ น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อธิบายสถานการณ์และปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยระบุว่า อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ภาพนี้แสดงน้ำร้อนผิดปกติที่เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้วครับ สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น เอลนีโญจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ เรามาดูว่าน้ำร้อนส่งผลอย่างไร ? ผมสรุปให้เพื่อนธรณ์ 3 เรื่อง

ผลกระทบต่อปะการัง แม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็น แต่ปะการังบางแห่งยังสีซีดไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆ ไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็น หากเอลนีโญลากยาวไปถึงฤดูร้อนปีหน้า มันเป็นเรื่องน่าสะพรึง

ผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม/น้ำเปลี่ยนสี ช่วงนี้ฝนตกแดดออกสลับกันไป แพลงก์ตอนพืชชอบมาก เพราะมีทั้งธาตุอาหารทั้งแสงแดด จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะ

มวลน้ำที่ร้อนกว่าปกติ ทำให้น้ำแบ่งชั้น น้ำร้อนอยู่ข้างบน น้ำเย็นอยู่ข้างล่าง ออกซิเจนจากน้ำด้านบนมาไม่ถึงน้ำชั้นล่าง หากเกิดแพลงก์ตอนบลูม สัตว์น้ำตามพื้นจะตายง่าย ผลกระทบต่อพายุ อันนี้ต้องออกไปดูมวลน้ำร้อนในแปซิฟิก น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ? คำตอบคือ “รับมือ” ด้วยการยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที “ปรับตัว” ด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่เธอกำลังแย่ มองไปข้างหน้าหาทางหนีทีไล่ เช่น หากต้องปิดจุดดำน้ำในแนวปะการังหากฟอกขาวปีหน้า เราจะต้องทำอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวปรับตัวกับโลกร้อนไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ในพริบตา เราต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าครับ

อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกบอกไว้ โลกเปลี่ยนไป เอลนีโญ+โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญอีกเรื่อยๆ หนนี้เป็นแค่ชิมลางก่อนเข้าสู่ยุคธรรมชาติแปรปรวนอย่างแท้จริง เราควรต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด คิดหาหนทางไว้ในขณะที่ยังพอมีเวลาจะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าทำได้แค่ไหน ก็จะพยายามสุดแรง โดยมีความหวังเล็กๆ ว่าที่พูดไปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง เปลี่ยนเร็ว ๆ หน่อยก็ดีนะ เพราะมวลน้ำร้อนใหญ่มาจ่อไทยแล้วครับ

เอลนีโญ เคลื่อนที่จ่ออ่าวไทย
ภาพจาก Facebook : Thon Thamrongnawasawat

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button