ถอดกฎสภา ‘งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ’ เลือกนายกฯ แตกต่าง มีผลอย่างไร
เช็กนิยามความหมาย “งดออกเสียง” และ “ไม่เห็นชอบ” มีความแตกต่างและ มีผลอย่างไรในการเลือกต่อโหวตนายกรัฐมนตรีไทยในสภา หลายคนสุดสงสัย “ทำไมงดออกเสียงเท่ากับไม่เห็นชอบ”
เปิดเกร็ดความรู้ ข้อกฎหมายสุดวายป่วง “งดออกเสียง” มีความหมายเท่ากับ “ไม่เห็นชอบ” หรือไม่? และมีผลลัพธ์แตกต่างอย่างไรต่อการเลือกโหวตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 30 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดนปัดตกด้วยคะแนนโหวต เห็นชอบ 324 เสียง, ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง
ถอดความกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระเบียบวาระและข้อกำหนดใน “สภาผู้แทนราษฎร” เกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรี การงดออกเสียง และการไม่เห็นชอบ มีความหมายที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง ทีมงาน Thaiger รวบรายละเอียดข้อมูลมาให้แล้วที่นี่
“งดอกเสียง” กับ “ไม่เห็นชอบ” ต่างกันอย่างไร?
สำหรับความหมายของการ “งดออกเสียง” หรือ “งดเว้นการออกเสียง” คือ ผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ออกเสียงหรืองดการแสดงความคิดเห็นว่า ตนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัติ หรือข้อปรึกษาที่ต้องการลงมติในที่ประชุมสภาในวาระนั้น ๆ
ทั้งนี้การ งดออกเสียง ถือเป็นสิทธิของสมาชิกสภาที่สามารถทำได้ซึ่งไม่ถือว่าขัดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม กรณีทำไม “การงดออกเสียง”จึงเท่ากับ “การไม่เห็นชอบ” โดยหากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ ดังตัวอย่าง
‘กรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การงดเว้นการออกเสียงจึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ’
สรุปผลลัพธ์ งดออกเสียง = ไม่เห็นชอบ
ดังนั้นตามนิยามของกฎหมายไทย จึงสรุปได้ว่า “ไม่เห็นชอบ = งดออกเสียง” ส่วนเสียงของประชาชนที่ไป เลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมานั้น จะมีค่ามากแค่ไหนไม่รู้ รู้แค่ว่าถ้าเลือกไปแล้วเป็นเสียงข้างมาก แต่มีคนจำนวนหนึ่งตัดสินไม่เห็นชอบ ก็ไร้ความหมาย
อ้างอิง : 1