จดไว้เลย “โหวตนายกรัฐมนตรี” วันนี้ 13 กรกฎาคม กี่โมง วิธีโหวต รู้ผลตอนไหน
กางกำหนดการโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย หลังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าได้มีการวางกรอบนัดประชุมรัฐสภา เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีวันนี้ 13 กรกฎาคม 2566 โดย 8 พรรคร่วมเตรียมเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี
โหวตนายก 2566 กี่โมง ประชุมสภาวันนี้ เช็กที่นี่
เข้าสู่การประชุมรัฐสภาวาระสำคัญ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้ 13 กรกฎาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องการเสียงสนับสนุน 376 เสียง จากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
แม้ว่าวานนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมถือหุ้น iTV และร้องขอให้ศาลสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการโหวตเลือกนายก เทียบกับกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อเลือกตั้ง 2566 แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวแล้ว แต่ก็ยังสามารถเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีได้อยู่
ซึ่งในขณะนี้ นายพิธา ได้รวบรวมคะแนนเสียงจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ 312 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ซึ่งหมายความว่าพรรคก้าวไกล จะต้องการเสียงจากวุฒิสภา (ส.ว.) อีกอย่างน้อย 64-65 เสียง เพื่อให้นายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
วันนี้ทีมงาน Thaiger จะพาทุกคนมาเช็กกำหนดการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าจะเริ่มมีการโหวตตั้งแต่กี่โมงเป็นต้นไป มีขั้นตอนการโหวตอะไรบ้าง หากการโหวตครั้งนี้ไม่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร หากพร้อมแล้วมาส่องรายละเอียดการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกันได้เลย
ปฏิทินกำหนดการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค. 66 เริ่มกี่โมง
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เคาะวันและเวลาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เริ่มโหวตในเวลา 17.00 น. พร้อมด้วยตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. ร่วมประชุม โดยมีกำหนดการโหวตนายกฯ ตามกรอบเวลาที่วางไว้ดังต่อไปนี้
- 09.30 น. เปิดประชุมรัฐสภาโดยการประชุมจะยึดตามข้อบังคับการประชุมและรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการประชุม
- เปิดให้สมาชิก (ส.ส. และ ส.ว.) แต่ละคนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ อภิปรายได้โดยไม่กำหนดระยะเวลา แต่ทั้งหมดจะต้องอภิปรายไม่เกิน 4 ชั่วโมง
- เปิดให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ (กรณีที่ประชุมเสนอ)
- 17.00 น. เริ่มเปิดให้สมาชิกรัฐสภาลงมติ
- 19.30 น. รายงานผลการโหวต จะรู้ผลในวันเดียวกันนี้เลยว่าพิธาจะได้เป็นนายกคนใหม่หรือไม่
ทั้งนี้ หาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวต จะมีการนัดประชุมรอบสองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566
ขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีอะไรบ้าง
1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จะทำการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป
กรณีนี้มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมือง ที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 8 คน จาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล 1 คน, พรรคเพื่อไทย 3 คน, พรรคภูมิใจไทย 1 คน, พรรคพลังประชารัฐ 1 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
2. การเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรคจะต้องมี ส.ส. รับรอง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเลือกเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน
3. การให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และ วุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียง รวมกันเป็น 750 เสียง
4. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะทำการขานชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ
5. หากมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้คะแนนเสียง 376 เสียงขึ้นไป จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าต่อไป
6. หากลงคะแนนแล้วไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง จะมีการวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
สำหรับการวนโหวต ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้อย่างแน่ชัด ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ที่จะมีการกำหนดกรอบเวลาภายใน 30 วัน หากพ้น 30 วัน บังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทาง กทม. จะเปิดพื้นที่บริเวณ อยู่ตรงข้ามรัฐสภา ให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ติดตามบรรยากาศในวันโหวตเลือกนายกฯได้ โดยจัดสถานที่ไว้รองรับประชาชน ทาง กทม. จะคอยอำนวยความสะดวกทั้งห้องน้ำและเต็นท์ โดยจะยึดตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ