วิธีโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค. 66 ฝ่าด่านสุดท้าย ก่อนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
เปิดวิธีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ลุ้นชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่าด่านสุดท้าย ก่อนขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
เข้าสู่โค้งสำคัญที่ประชาชนไทยทุกคนต่างรอคอย วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เตรียมลุ้นผลโหวตเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ผู้ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยตามวิธีของประชาธิปไตย แต่ถึงอย่างนั้นเชื่อว่าประชาชนต่างลุ้นกันไม่ติดว่า สภาชิกวุฒิสภา หรือ สว. จะลงมติโหวตให้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกมา ได้ทำหน้าที่ตามความเชื่อมั่นของประชาชนหรือไม่
วันนี้ทีมงาน Thaiger จะพาทุกคนมาทบทวนวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย เพื่อตรวจสอบข้อมูลกันว่ามีวิธีการใดบ้าง กระบวนการเลือกนายกครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใด อีกนานไหมชาวไทยถึงจะได้นายก ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านไปพร้อม ๆ กันได้เลย
วิธีเลือกนายกรัฐมนตรี ด่านสำคัญที่ประชาชนต่างตั้งตารอ
แม้จะเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญของการเมืองไทยปี พ.ศ. 2566 หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าการคัดเลือกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ชี้ชะตาประชาชนชาวไทยได้มากน้อยขนาดไหน ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้มีการกล่าวถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ ดังนี้
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ว่า “ในระหว่าง 5 ปีแรกของรัฐสภาชุดแรกนี้ มติเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภาและต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งการโหวตนายกฯ ให้กระทำโดยเปิดเผย โดยเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาตามาลำดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ตามวิธีที่ประธานกำหนด
คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภารวมกัน หมายความว่า การเลือกนายกฯ ให้ วุฒิสภา หรือ ส.ส. เข้ามาร่วมโหวต นายกฯ กับ สภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 500 คน วุฒิสภา หรือ ส.ว. มีจำนวน 250 คน สองสภารวมกัน 750 คน กึ่งหนึ่งคือ 375 คน ดังนั้นคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งจาก 2 สภารวมกันคือ 376 คนขึ้นไป”
สำหรับขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการลงคะแนนเสียงโหวตจากทั้งสองสภา ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งการลงมตินายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้ระแบบรัฐสภา ซึ่งจะประกอบไปด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน ซึ่ง ส.ส. ทั้ง 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนส.ว.อีก 250 คนเป็นส.ว.ชุดเดิม โดยจะมีรัฐสภาทั้งหมด 750 คนที่มีสิทธิในการลงความเห็นชอบในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
2. หลังจากนั้น ส.ส. และ ส.ว. จะเป็นผู้ลงคะแนนให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรายชื่อแคนดิเดตของแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามา โดยจะเป็นการลงคะแนนเสียงแบบเปิดเผย ซึ่งทางสภาจะเรียกชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทีละคน ตามลำดับตัวอักษร โดยจะให้สมาชิกแต่ละคนออกเสียงเป็นรายบุคคล ระบุได้เลยว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ”
3. แคนดิเดตที่ได้รับการ “เห็นชอบ” จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือมากกว่า 376 เสียงขึ้นไปของสมาชิกทั้งหมด 750 คน จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
4. หลังจากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะขึ้นมาเป็นายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว จะเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นลำดับต่อไป
โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ลงคะแนนเสียงวันไหน
วันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะตรงกับวันที่ วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตามที่นายมูฮัมหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาคนปัจจุบัน ได้ทำการนัดวันโหวตนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้ชะตาว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามที่ประชาชนชาวไทยต่างตั้งตารอคอยหรือไม่
ซึ่งในขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค รวมคะแนนเสียงกันได้ทั้งสิ้น 312 เสียง ที่จะทำการโหวตให้นายพิธา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และตอนนี้ขาดคะแนนจากสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เพียง 64 เสียงเท่านั้น จึงจะครบ 376 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ระบุไว้
วิธีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนสำคัญที่ควรรู้
1. ลงคะแนนตามลำดับตัวอักษร
การลงมติของรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องกระทำเป็นการเปิดเผย ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ที่กำหนดไว้ว่า การลงคะแนนในการเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องทำโดยการขาชื่อสมาชิกรัฐสภารายคนตามลำดับตัวอักษร ซึ่งไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ก็จะถูกนำมาเรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อเท่านั้น
เมื่อขานชื่อแล้ว สมาชิกจะต้องขานชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ตนต้องการลงคะแนนให้ ทำเป็นกระบวนการเช่นนี้จนครบสมาชิกทั้ง 750 คน การขานชื่อตามตัวอักษรเช่นนี้ เป็นลักษณะเดียวกับการลงคะแนนร่างแก่รัฐธรรมนูญ
2. ลงคะแนนตามประเภทสมาชิก ให้ ส.ส. โหวตก่อน ส.ว.
ตามข้อเสนอของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอไว้ว่า ตามวิธีการลงคะแนนตามอักษรชื่อของสมาชิก ให้เปลี่ยนเป็นลงคะแนนแยกระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. โดยให้ ส.ส. ลงคะแนนก่อน เพื่อให้ทราบว่าเสียงข้างมากที่มาจากประชาชนจะสนับสนุนใคร หลังจากนั้นให้ ส.ว. ลงคะแนนตามลำดับ
สรุปแล้ว การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ตามกำหนดการของประธานสภา โดยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้เสียงจากสองสภา จำนวนทั้งสิ้น 750 คน ซึ่งทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จะต้องทำการโหวต ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ทั้งสิ้น 376 เสียงขึ้นไป เพื่อให้นายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนพึงได้รับ