ไลฟ์สไตล์

วิธีแต่งกลอนแปด ‘วันสุนทรภู่ 2566’ เทคนิคแต่งกลอนให้ไพเราะ เขียนยังไง

ใกล้เข้ามาแล้วกับวันสำคัญอีกวันหนึ่งของคนไทย นั่นก็คือ “วันสุนทรภู่” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงกวีเอกของสยาม ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม

สำหรับผลงานชิ้นโบว์แดงของสุนทรภู่ที่หลายคนรู้จักกันดีคงหนีไม่พ้นเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งได้รับการยกย่องจากทางวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน โดยใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีนี้ยังถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศอีกด้วย

และเนื่องในวันแห่งการยกย่องกวีเอกที่ถนัดการแต่งกลอนสุภาพที่สุด น้อง ๆ หนู ๆ นักเรียนก็คงจะได้รับภารกิจจากคุณครูให้แต่งกลอนส่งเป็นการบ้าน หรือส่งประกวดอย่างแน่นอน ทว่าหลายคนอาจจะเริ่มหนักใจเพราะไม่ถนัดเรื่องกาพย์กลอนกันสักเท่าไร แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะวันนี้พี่ ๆ จากเดอะไทยเกอร์จะมาแนะนำเทคนิคการแต่งกลอนสุภาพ หรือ กลอนแปด ให้ไพเราะจับใจ เหมือนมีสุนทรภู่มาติวให้ด้วยตัวเอง

วิธีแต่งกลอนแปด

ทำความรู้จัก ‘กลอนแปด’ คำกลอนที่กวีนิยมแต่ง

กลอนแปดจัดเป็นหนึ่งในกลอนสุภาพ พบการแต่งกลอนแปดครั้งแรกในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย และต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ก็มีกวีเอกที่ทำให้การแต่งกลอนแปดเป็นที่นิยมมาก ๆ คือสุนทรภู่ โดยผลงานกลอนแปดของสุนทรภู่ที่โด่งดังมากที่สุดคือเรื่องพระอภัยมณี

นอกจากนี้ เหตุที่ทำให้กลอนแปดเป็นที่นิยมแต่งของกวีในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น เนื่องด้วยฉันทลักษณ์ของกลอนลักษณะนี้มีความเรียบง่ายและไม่ซับซ้อนจึงทำให้ผู้อ่านเข้าถึงงานประพันธ์ได้มากกว่ากลอนประเภทอื่น ๆ เหล่าผู้ประพันธ์หลาย ๆ คนจึงเลือกใช้กลอนแปดในการแต่งบทประพันธ์

ฉันทลักษณ์กลอนแปด

ฉันทลักษณ์ หรือ ลักษณะคำประพันธ์ร้อยกรองประเภทกลอนแปดนั้น จะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ คณะ เสียง และการส่งสัมผัส โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. คณะ

ในกลอนแปด 1 บท จะประกอบไปด้วย 2 บาท หรือ 4 วรรค โดยใน 1 วรรค จะมี 8 คำ/พยางค์ และมีชื่อเรียกวรรคแต่ละวรรคตามนี้

  • วรรคแรก – สดับ
  • วรรคสอง – รับ
  • วรรคสาม – รอง
  • วรรคสี่ – ส่ง

2. เสียง

ในการแต่งคำประพันธ์ชนิดกลอนแปด จะมีกฎหรือข้อบังคับเกี่ยวกับหลักการใช้เสียงวรรณยุกต์ไว้อยู่ด้วย โดยในแต่ละวรรคจะลงท้ายด้วยเสียงวรรณยุกต์ที่ต่างกัน ตามรายละเอียดด้านล่างนี้

  • วรรคแรก ใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่นิยมใช้เสียงสามัญ
  • วรรคสอง นิยมใช้เสียงจัตวา และห้ามใช้เสียงสามัญและเสียงตรี
  • วรรคสาม นิยมใช้เสียงสามัญหรือเสียงตรี และห้าใช้เสียงเอก เสียงโท และเสียงจัตวา
  • วรรคสี่ นิยมใช้เสียงสามัญหรือเสียงตรี และห้ามใช้เสียงเอก เสียงโท และเสียงจัตวา

3. สัมผัส

อีกหนึ่งข้อบังคับในการแต่งกลอนแปดคือการส่งสัมผัสให้คำกลอนมีความไพเราะคล้องจองกัน ซึ่งประกอบไปด้วย สัมผัสนอก และ สัมผัสใน

  • สัมผัสนอก ให้มีสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายวรรคหน้ากับคำที่สามของวรรคหลังของทุกบาท และให้มีสัมผัสระหว่างบาทคือคำสุดท้ายของวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบท กำหนดให้คำสุดท้ายของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สองของบทถัดไป
  • สัมผัสใน ไม่บังคับ แต่หากจะให้กลอนสละสลวยควรมีสัมผัสระหว่างคำที่สามกับคำที่สี่ หรือระหว่างคำที่ห้ากับคำที่หกหรือคำที่เจ็ดของแต่ละวรรค
กลอนแปด สุนทรภู่ 2566
ภาพจาก : PED EVERYDAY

เคล็ด(ไม่)ลับ แต่งกลอนแปดให้ไพเราะ

1. การใช้สัมผัสนอก

สำหรับข้อบังคับตายตัวเรื่องสัมผัสนอกคือการใช้เสียงสระเสียงเดียวกัน แต่หลาย ๆ คนอาจจะมาตกม้าตายเนื่องจากใช้สระเสียงสั้นและยาวในการส่งสัมผัสผิด เช่น ใช้คำว่า ไม้ สัมผัสกับคำว่า ตาย หรือ ใช้คำว่า สันต์ สัมผัสกับคำว่า การ

ตัวอย่างบทประพันธ์

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

จากคำประพันธ์ข้างต้นมาจากเรื่องพระอภัยมณี จะเห็นได้ว่าสุนทรภู่เลือกใช้สัมผัสนอกด้วยสระเสียงสั้น คือคำว่า มนุษย์ สัมผัสกับ สุด และคำว่า กำหนด สัมผัสกับ ลด และ คด ทำให้กลอนบทนี้อ่านแล้วรื่นหู ไม่มีคำไหนสะดุด ไพเราะตั้งแต่ต้นจนจบบท

2. การใช้สัมผัสใน

การใช้สัมผัสในประกอบไปด้วยสัมผัสสระและสัมผัสอักษร แม้จะไม่บังคับใช้ แต่หากมีในบทกลอนก็จะทำให้เพราะมากขึ้น เหมือนบทกลอนของสุนทรภู่ที่มีการใช้สัมผัสในเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น

ตัวอย่างบทประพันธ์

เอามีดคร่ำตำอกเข้าต้ำอัก เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน

นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน เลือดก็ดั้นดาดแดงดังแทงควาย

จากคำประพันธ์ข้างต้นมีทั้งการใช้สัมผัสอักษรและสัมผัสสระ ซึ่งถือเป็นงานถนัดของสุนทรภู่เลยก็ว่าได้ โดยตัวอย่างบทประพันธ์ที่อยู่ในตัวอย่างนั้นมาจากเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นตอนที่ขุนแผนจะฆ่านางบัวคลี่เพื่อเอาลูกมาทำกุมาร

สำหรับตัวอย่างบทประพันธ์ที่ยกมานั้น นอกจากจะโชว์ฝีมือการแต่งสัมผัสในของสุนทรภู่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างจินตภาพแก่ผู้อ่านด้วยการใช้ภาพพจน์ทางเสียง ด้วยการใช้สระเสียงสั้นเพื่อให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงความรู้สึกเดียวกับตัวละครในเรื่อง

กลอนแปด สุนทรภู่ 2566
ภาพจาก : silpa-mag

3. การใช้จังหวะ

สำหรับกลอนแปดจะมีจังหวะการใช้คำกลอนที่เป็นมาตรฐานคือ 3-2-3 แต่ก็ยังแบ่งอ่านได้อีกหลายจังหวะ เช่น 2-2-3, 2-3-3 หรือ 3-3-2 ซึ่งการเลือกใช้คำโดยยึดให้เข้ากับจังหวะของกลอนจะทำให้บทประพันธ์นั้นสละสลวย อ่านรื่นหูไม่มีสะดุด และไม่เกิดการฉีกคำจนทำให้กลอนเสียทั้งบท

ตัวอย่างบทประพันธ์

เขาย่อมเปรียบ–เทียบความ–ว่ายามรัก แต่น้ำ–ผักต้มขม–ชมว่าหวาน

ครั้นรักจาง–ห่างเหิน–ไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาล–ก็ว่าเปรี้ยว–ไม่เหลียวแล

ตัวอย่างบทประพันธ์นี้มาจากเรื่องพระอภัยมณีอีกเช่นเคย ซึ่งแสดงให้เห็นการเลือกใช้คำของสุนทรภู่ที่เข้ากับจังหวะของบทกลอนมาตรฐาน 3-2-3 โดยมีวรรคที่สองใช้จังหวะ 2-3-3 เพียงวรรคเดียว หากพิจารณาแล้วก็จะไม่พบว่ามีจุดไหนในกลอนบทนี้ที่ฉีกคำเลย แถมยังอ่านได้คล้องจองกันด้วย

4. การสร้างจินตภาพ

อีกหนึ่งเคล็ดในการแต่งกลอนแปดที่จะทำให้บทประพันธ์ของเรานั้นกระทบใจคนอ่านได้ดี คือการสร้างจินตภาพให้เกิดแก่คนอ่าน โดยอาจเลือกใช้การบรรยายหรือพรรณาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ภาพชัดเจน หรืออาจเพิ่มระดับความงามของบทกลอนด้วยการใช้ภาพพจน์ต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่กวีมักจะเลือกใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบในการแต่งคำประพันธ์ ทำให้คนอ่านสามารถจินตนาการเรื่องราวได้ไม่จำกัดขอบเขต

ตัวอย่างบทประพันธ์

ในนทีตีคลื่นเสียงครื้นครึก ลั่นพิลึกโลกาโกลาหล

หีบดนตรีปี่พาทย์ระนาดกล ไม่มีคนไขดังเสียงวังเวง

อัศจรรย์ลั่นดังระฆังฆ้อง เสียงกึกก้องเก่งก่างโหง่งหง่างเหง่ง

ปืนประจำกำปั่นก็ลั่นเอง เสียงครื้นเครงครึกโครมโพยมบน

สำหรับตัวอย่างบทประพันธ์ที่ยกมานั้นเป็นตอนหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งเป็นบทอัศจรรย์ระหว่างพระอภัยมณีกับนางละเวงวันฬา โดยจากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าผู้แต่งใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบในการสร้างจินตภาพฉากร่วมรักให้เกิดแก่จินตนาการของผู้อ่าน แม้จะดูเหมือนเป็นการเลือกใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่เมื่อร้อยเรียงมาอย่างดีแล้วย่อมทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน

วิธีแต่งกลอนแปด

อาจจะดูเหมือนยาก แต่ถ้าหากตั้งใจและค่อย ๆ ศึกษาไปทีละข้อ พร้อมทั้งฝึกแต่งกลอนแปดอยู่เรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราเชี่ยวชาญในการแต่งกลอนมากขึ้น ทั้งนี้อีกหนึ่งเคล็ดไม่ลับที่อยากฝากน้อง ๆ หนู ๆ ทุกคนไว้คือการอ่านให้มาก ๆ หากเราอ่านมากเราจะยิ่งซึมซับวิธีการแต่งกลอนของนักประพันธ์คนนั้น ๆ ดังนั้นการเลือกอ่านงานประพันธ์จากกวีที่เก่งกาจก็ถือเป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งในการช่วยให้เราแต่งกลอนเก่งขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2 3 4

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button