“ชุดตรวจไตวาย” สิทธิบัตรทอง 2566 เตรียมได้ใช้ เน้นรู้เร็ว-ยืดอายุไต
ช่วยเพิ่มความสะวด ทราบผลไว ยืเอายุไตได้นาน สปสช เตรียมให้สิทธิบัตรทอง ใช้ ชุดตรวจโปรตีนปัสสาวะ หาความเสี่ยงไตวาย ชะลอไตเสื่อม เน้นกลไกภาคประชาชนช่วยสร้างตระหนักรู้ เตรียมใช้งบ กปท.ส่งเสริม หลังพบใช้น้อย
ภายหลังจาก สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สปสช. และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเชื่อมร้อยสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อนโรคไตทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 10-11 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการและระหว่างผู้ป่วยโรคไตด้วยกัน ส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคไตและสังคม
ขณะเดียวกันได้รับฟังปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ ระดมสมองเสนอความคิดเห็นเชิงนโยบายผลักดันแนวทางการพัฒนาบริการแก่ผู้ป่วย และกำหนดทิศทางทำงานขับเคลื่อนร่วมกันระยะ 3 ปี ล่าสุด สปสช. ก็ได้ผลักดันให้การบำบัดทดแทนไตเป็นสิทธิประโยชน์เป็นเวลา 16 ปีแล้ว ระบบยังคงอยู่รอด
โดยสิ่งที่จะขับเคลื่อนมี 3 ประเด็นคือ
- สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ช่วยกันชะลอจำนวนผู้ป่วยไตวายรายใหม่ สร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินหวาน มัน เค็ม ค้นหากลุ่มเสี่ยงที่ใกล้เข้าสู่ภาวะไตวาย ล่าสุดมีชุดตรวจโปรตีนในปัสสาวะ หากเข้าสู่สิทธิประโยชน์ก็จะเป็นเครื่องมือสร้างความรับรู้สถานการณ์สุขภาพ อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อยืดเวลาให้ไตทำงานได้นานที่สุด เน้นทำระบบเบิกจ่ายให้รวดเร็ว คล่องตัว ถูกต้องและเป็นธรรม ทำความเข้าใจกับหน่วยบริการไม่ให้เกิดการเรียกเก็บเงินแบบไม่มีเหตุผลสมควร
- สนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) มาใช้ขับเคลื่อน สร้างการตระหนักรู้ด้านสุขภาพและปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคไต เพราะปัจจุบันยังมีสัดส่วนการใช้เงิน กปท. ทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเกี่ยวกับโรคไตน้อยมาก คิดเป็น 0.6% จากเงิน กปท. ทั้งหมด 2 พันล้านบาท และ
- สร้างภาคีเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ใช้กลไก สปสช.เขตส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในปี 2565 มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายซึ่งต้องรับการบำบัดทดแทนไตทั้งหมด 82,463 ราย ใช้งบประมาณในส่วนนี้ราวๆ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
จากรายงานของ United states renal data system พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนความชุกโรคไตวายเรื้อรังเทียบกับประชากรเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีอัตราเพิ่มของโรคไตวายเรื้อรังเร็วที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก คือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19 ต่อปี
ดังนั้นเพื่อรสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยควบคู่ไปกับการประหยัดงบประมาณ แนวทางการสร้างนำซ่อม หรือ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจึงถูกนำมาใช้เป็นฐานคิดและต่อยอดไปสู่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “ชุดตรวจคัดกรองโรคไตระยะเริ่มต้น” ซึ่งการตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่เนิ่นๆ จะนำไปสู่การวินิจฉัย และการรักษาอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ โรคไตระยะเริ่มต้นมักจะไม่แสดงอาการ การตรวจคัดกรองโรคจึงต้องตรวจหาค่าซีรั่มครีเอตินีน และตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะเท่านั้น.
ที่มา : สำนักข่าว The Coverage
- วิธีตรวจสอบสิทธิบัตรทอง 2566 ออนไลน์ง่ายๆ
- สิทธิบัตรทอง 30 บาท กรณีรักษาพลาด เยียวยาสูงสุดเท่าไหร่ ?
- เช็คสิทธิบัตรทอง-เปลี่ยนโรงพยาบาล สปสช. แบบออนไลน์