ข่าวข่าวการเมือง

ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ เชื่อนโยบาย ค่าแรง 450 บาท ทำได้ยาก

ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เชื่อนโยบาย ค่าแรง 450 บาท ของพรรคก้าวไกล ทำได้ยาก ชี้สร้างความกังวลให้นายจ้าง

นาย มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบาย 450 บาท ในช่วง 100 วันแรกของตามที่พรรคก้าวไกลได้เล็งเอาไว้ ซึ่งล่าสุดฝ่ายนายจ้าง/สถานประกอบการมีข้อกังวลและขอให้ทบทวนนโยบาย ว่า ในฐานะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่คลุกคลีทำงานเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างของประเทศมายาวนาน มองว่านโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท ใน 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล ทำจริงได้ยาก และเป็นห่วงว่าการใช้เรื่องนี้หาเสียงกับประชาชน และทำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีความหวังและสนับสนุนด้วยการลงคะแนนให้กันอย่างล้นหลาม

Advertisements

“หากทำไม่ได้ใน 100 วันแรกที่เข้าไปบริหารประเทศ จะเป็นปัญหาของพรรคก้าวไกลด้วย มีแนวโน้มสูงที่อาจจะทำให้ผู้ใช้แรงงานที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลไม่พอใจ จนต้องออกมาเรียกร้อง และร้องไปที่ กกต. หรือศาลปกครอง ว่าไม่ทำตามสัญญา”

นายมนัส กล่าวต่อว่า เรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาทุกปี แต่จะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น มันมีองค์ประกอบและปัจจัยหลากหลายที่ต้องนำมาพิจารณาในคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจประเทศ

การที่พรรคก้าวไกลไปกำหนดว่าต้องขึ้นค่าจ้าง 450 บาท ใน 100 วัน อาจจะเป็นเรื่องยาก และยิ่งทำให้ฝ่ายนายจ้าง/สถานประกอบการ มีความกังวล หากขึ้น 450 บาท จะเกิดปัญหาตามมาอีก คือคนเข้าใหม่ได้ค่าจ้าง 450 บาททันที แต่คนที่ทำงานมาก่อน 4-5 ปี ได้ค่าจ้างในอัตราที่สูงอยู่แล้ว นายจ้างต้องปรับขึ้นตามด้วย หากยังไม่ถึง 450 บาท ก็ต้องได้ แต่คนที่ถึง 450 บาท อยู่แล้ว นายจ้างจะทำอย่างไร ไม่ขึ้นให้ก็มีปัญหา ขึ้นให้อีกก็มีปัญหา จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เรื่องนี้ในกลุ่มลูกจ้างส่วนใหญ่เข้าใจกันดี

มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงสร้างค่าจ้างของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบคือ รัฐบาลควรทำอัตราค่าจ้างแรกเข้า และทำโครงสร้างอัตราค่าจ้างประจำปี เพื่อให้คนที่มีอายุงาน มีทักษะความสามารถ มีผลงาน มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามอายุงานที่เพิ่มขึ้น

หากจัดทำโครงสร้างอัตราค่าจ้างแบบที่เสนอจะช่วยให้องค์กรนั้นๆ ไม่มีความขัดแย้งภายใน ลูกจ้าง พนักงาน นายจ้างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข หากทำตามแนวทางนี้ จะต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 87 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเช่นกัน

Advertisements

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button