แถลงการณ์ MOU 8 พรรคเซ็นจัดตั้งรัฐบาล 23 วาระ ปรับแก้ข้อไหนบ้าง
แถลงการณ์ MOU ก้าวไกล พร้อม 8 พรรคร่วมรัฐบาล วันนี้ พิธา อ่านวาระ 23 ข้อ พร้อม 5 แนวทางปฏิบัติ หัวหน้าพรรคลงนาม จรดปากกาชักภาพโชว์สื่อชื่นมื่น ยุคการเมืองประชาธิปไตยมิติใหม่ วาระร่วมมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม ตรวจสอบได้ที่นี่
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมี “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำในการจัดตั้งพร้อมกับแถลงการเซ็นลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันถึงวาระร่วมกัน 23 ข้อ ตลอดจนนโยบายต่าง ๆ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
หลังจาก นายพิธา อ่านรายละเอียดวาระ 23 ข้อ ตลอดจน 5 แนวปฏิบัติที่ทุกพรรคเห็นพ้องกันในบันทึกความเข้าใจต่อหน้าโต๊ะแถลงการณ์จบลง นาทีประวัติศาสตร์ร่างบันทึกข้อตกลงทางการเมืองฉบับแรกของไทยก็ถือกำเนิดขึ้น หลังจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกคนที่ 30 จรดปากกาเซ็นเอ็มโอยูเป็นคนแรก ก่อนจะยืนถือร่วมกับ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำร่วมเฟรมคนอื่น ๆ
ทั้งนี้ ในส่วนเอกสารร่างข้อตกลงนั้นเป็นชุดเดียวกันทั้งหมดที่ ผู้นำทั้ง 8 พรรคการเมืองลงนามร่วมกัน โดยความน่าสนใจของการลงนามดังกล่าว ได้มีวาระบางข้อถูกถอดออกไปจากร่างบันทึกข้อตกลงที่มีการนำเสนอในตอนแรก เช่น เรื่องของการสร้างสมานฉันท์ในสังคม ร่วมกันผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ประเด็นนี้ที่ไม่มีในเอ็มโอยู
โดยมีเรื่องที่เพิ่มเข้ามา อยู่ลำดับที่ 20 เป็นการยกระดับสาธารณสุข อีกทั้งบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ก็ยังไม่มีประเด็นนิรโทษกรรม (amnesty) และเรื่องของข้อกฏหมาย มาตรา 112
ทั้งนี้ การลงนามยังมีการเว้นบางเรื่องไว้สำหรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา อาทิ ประเด็นวาระร่วมของสมรสเท่าเทียมและสุราก้าวหน้า ซึ่งมีการทำเครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์หมายเหตุไว้ถึงพรรคประชาชาติที่ไม่เห็นด้วยในเอ็มโอยูฉบับที่เพิ่งเซ็นกันไปเรียบร้อยแล้ว
รายละเอียดบันทึกความเข้าใจ MOU ที่ทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเห็นร่วมกัน 23 ข้อ
(*** มีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงในบางประเด็นจากที่มีการรนำเสนอข้อมูลมาก่อนหน้า)
1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
2. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อรับประกันสิทธิสมรส สำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่า ขัดแย้งกับหลักการของษศสนาที่ตนเองนับถือ
3. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลัก ประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม
5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิในการไม่เห็นด้วย เฉพาะอุตสหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วเตหุผลทางด้านศาสนา
11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักตันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)
14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว
15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์กษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
20. ยกระดับระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพทั้งหารส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ
21. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเชียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
แนวปฏิบัติ 5 ข้อ ที่ทุกพรรคเห็นพ้องกันในการบริหารประเทศ
1. ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2. ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชั่น ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง.