เลือกตั้ง 2566 : ขั้นตอน วิธีเตรียมตัว เอกสาร ข้อห้าม รวมทั้งหมดที่นี่
เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566 เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าคูหาในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ในวันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนมาส่องขั้นตอน วิธีการเตรียมตัว เอกสารที่ต้องเตรียม และข้อห้ามในการเลือกตั้ง รวมทั้งหมดมาให้คุณแล้วที่นี่
สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิในการเข้าคูหาการเลือกตั้งครั้งใหญ่ได้ทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่วันเวลาในการเลือกตั้ง วิธีการต่าง ๆ ไปจนถึงข้อห้ามที่ส่งผลถึงกฎหมายเพื่อให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด หากใครที่ยังไม่ทราบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ มาเตรียมตัวไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ
เลือกตั้ง 2566 : รวมสิ่งที่ทุกคนควรทราบ เตรียมพร้อมก่อนเข้าคูหา
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คูหาเริ่มเปิดกี่โมง หน่วยเลือกตั้งปิดเวลาไหน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เอกสารที่ต้องใช้มีอะไร รวมถึงขั้นตอนในการลงคะแนนเสียงของท่าน และข้อห้ามที่ควรหลีกเลี่ยง โดยการเลือกตั้ง 2566 มีสิ่งที่ทุกคนควรรู้ ดังนี้
เลือกตั้งวันไหน เริ่มเวลากี่โมง หน่วยเลือกตั้งปิดกี่โมง
การเลือกตั้ง 2566 กำหนดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น. สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนเวลา 17.00 น. จะมีการนับคะแนน ณ สถานที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้น
หากหน่วยเลือกตั้งไหนมีผู้มาใช้สิทธิเยอะ ผู้ที่มาแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนเวลา 17.00 น. เท่านั้นถึงจะมีสิทธิเลือกตั้งต่อไปได้ แม้จะเลยเวลา 17.00 น. แล้ว แต่หากมาแสดงตัวหลัง 17.00 น. จะไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้
วิธีการเตรียมตัวเข้าคูหาเลือกตั้ง 2566
- เตรียมบัตรประชาชนให้เรียบร้อย เพราะต้องใช้ในการยืนยันตัวตน หรือจะเป็นบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ โดยจะต้องมีรูปถ่ายและเลข 13 หลัก
- ตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ และลำดับที่ในการเลือกตั้ง ว่ามีสิทธิเลือกตั้งหน่วยใด ลำดับที่เท่าไหร่
- ศึกษาวิธีการเลือกตั้งว่ามีรูปแบบใด ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น “สีม่วง” บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งบัญชีรายชื่อ (บัตรเลือกพรรคการเมือง) เป็น “สีเขียว”
- ศึกษาผู้สมัครในพื้นที่ของท่านว่ามีใครบ้าง นโยบายเป็นอย่างไร และมีหมายเลขผู้สมัครหมายเลขใด สามารถตรวจสอบได้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งหรือเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครและพรรคการเมือง
เอกสารที่ต้องเตรียม เพื่อไปเลือกตั้ง 2566
- บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุสามารถใช้แสดงตนได้)
- บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เป็นต้น
- หลักฐานภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันสามารถใช้ได้ 3 แอปพลิเคชัน ได้แก่
– แอปพลิเคชัน ThaID (บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์)
– แอปพลิเคชัน DLT QRLICENCE (บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์)
– แอปพลิเคชัน บัตรคนพิการ (บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์)
ขั้นตอนการเลือกตั้ง มีวิธีการอะไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบรายชื่อ
ทุกท่านตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือทางเว็บไซต์ สำนักบริหารการทะเบียน www.bora.dopa.go.th
ขั้นตอนที่ 2 ยื่นหลักฐานแสดงตน
ยื่นบัตรประชาชนหรือหลักฐานแสดงตน ให้กับกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางเพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน พร้อมลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 3 รับบัตรเลือกตั้ง
รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้ว หัวแม่มือขวา บนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท โดยกรรมการประจำที่เลือกตั้งลายมือชื่อหรือในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 4 ทำเครื่องหมายกากบาท
เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภท โดยสามารถเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้บัตรละ 1 หมายเลข หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใดหรือไม่ประสงค์เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด
ขั้นตอนที่ 5 หย่อนบัตรด้วยตนเอง
เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทให้เรียบร้อย และหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทให้ถูกต้องด้วยตนเอง
ข้อห้ามที่ควรรู้ในการเลือกตั้ง 2566
- ห้ามหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม อาทิเช่น โพสต์หาเสียงให้พรรคการเมือง, สวมใส่เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับที่มีโลโก้พรรคการเมืองเข้าคูหา เป็นต้น
- ห้ามจำหน่าย-แจกสุราในเขตเลือกตั้ง 1 วันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดการเลือกตั้ง หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามพนันผลการเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น
หากการกระทำดังกล่าวทำโดยผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง จะมีโทษหนักขึ้น โดยจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร หรือหัวหน้าพรรคการเมือง - ห้ามเปิดเผยโพลสำรวจความเห็นในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดคะแนนการลงเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามซื้อสิทธิ-ขายเสียง สำหรับผู้ที่ “ซื้อเสียง” ฝ่าฝืนกรณีที่กฎหมายกำหนดข้อห้ามด้านต้น มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี สำหรับผู้แจ้งความนำจับการซื้อเสียง หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา จะได้เงินสินบนนำจับจากจำนวนเงินค่าปรับด้วย โดยศาลจะเป็นผู้สั่งจ่าย
- ห้ามจัดรถเกณฑ์คนไปเลือกตั้ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้เลือกผู้สมัคร ส.ส. คนใด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
- ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ หรือเสียหาย หรือทำให้เป็นบัตรเสีย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยว มิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง ซึ่งระวางโทษที่ลงแก่ผู้ที่ขัดขวางนี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี