ข่าว

ย้อนดู 6 ประเด็น เวทีเสวนาชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เพราะที่นี่ปัญหามากซับซ้อนกว่าที่คิด

เพจ LAST LIVE AT LIPE โพสต์เล่าขยายความ 6 ประเด็นปัญหา เวทีเสวนาชาวเลท้องถิ่นบนเกาะหลีเป๊ะ เพราะปัญหาบน “เกาะหลีเป๊ะ” มีมากมายและซับซ้อนกว่าที่ใครจะคาดถึง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เฟซบุ๊กแฟนเพจ LAST LIVE AT LIPE องค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งติดตามคาวมเคลื่อนไหวกรณีปัญหาสิทธิที่ดินทำกินบนเกาะหลี่เป๊ะ ประวัติความเป็นมาของเกาะ ไปจนถึงข้อเสนอ 4 ข้อ ถึงพรรคการเมืองและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

โดยเนื้อหาที่ทางเพจได้ลงไว่เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2566 ระบุ ดังนี้

“เพราะปัญหาบน “เกาะหลีเป๊ะ” มีมากมายและซับซ้อนกว่าที่ใครจะคาดถึง จนอาจทำให้ชีวิตชาวเลท้องถิ่นหายไป ถ้าหากได้ฟัง “เวทีเสวนาของชาวเลท้องถิ่นบนเกาะหลีเป๊ะ” เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา คงจะรู้ถึงปัญหาบนเกาะแห่งนี้ แต่ถ้าคุณพลาดชมหรืออยากรู้รายละเอียดที่ลึกยิ่งขึ้น เราขอมาเล่าขยายทั้ง 6 ประเด็นอีกครั้ง”

“โดยขอเริ่มต้นที่ประเด็นที่ 1 #สิทธิที่ดินชาวเลเกาะหลีเป๊ะ​ ประเด็นนี้เราได้พี่สลวยมาช่วยเล่าประวัติชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะและชีวิตการอยู่อาศัยที่่เปลี่ยนไป พร้อมแนวทางข้อเสนอถึงพรรคการเมืองของชาวเลที่อยากให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว​”

#ประวัติความเป็นมาของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ​ เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2440 ชาวเลเกาะหลีเป๊ะมาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกบนเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง และเกาะราวี ต่อมา พ.ศ.2452 เกิดเหตุการณ์ที่ต้องแบ่งเขตแดนประเทศ ทางฝั่งเจ้าเมืองสตูลจึงถามชาวเลว่าอยากให้เกาะหลีเป๊ะอยู่ในเขตแดนประเทศมาเลเซียหรือประเทศสยาม ซึ่งชาวเลได้ตอบว่าอยากอยู่ประเทศสยาม ทำให้เกาะหลีเป๊ะเป็นส่วนหนึ่งในประเทศไทยจนถึงวันนี้​

#ปัญหาผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก​ แม้ว่าชาวเลจะเป็นผู้ประกาศเขตที่ดินให้เกาะหลีเป๊ะเป็นของประเทศไทย แต่กลับเกิดปัญหามากมายบนที่ดินแห่งนี้ ทำให้ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ทำให้จิตวิญญาณและวิถีชีวิตของชาวเลหายไป​ ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและนายทุนที่เข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนกับจุดที่ชาวเลเคยอยู่ และเกิดปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งทำให้ชาวเลก็โดนคดีความบุกรุกพื้นที่ ทั้งถูกฟ้องร้อง และถูกขับไล่จนต้องย้ายจากบริเวณที่เคยอาศัย​

“รวมไปถึงถูกปิดกั้นพื้นที่ทำให้ใช้เส้นทางสาธารณะไม่ได้ เดินริมหาดไม่ได้ เข้าโรงเรียนก็ต้องปีนรั้ว ทำพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ไม่มีพื้นที่ หรือจะออกไปฝังศพก็ไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ น้ำใต้ดินบนเกาะลดลง และบ่อน้ำตื้นของชาวเลแห้ง”

“แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ซับซ้อนและยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน หากใครที่อยากรู้เรื่องราวของที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ สามารถอ่านเต็มๆ ได้ที่ #ไทม์ไลน์โฉนดที่ดินเกาะหลีเป๊ะ”

  • ตอนที่ 1 https://bit.ly/lipetimelineep1​
  • ตอนที่ 2 https://bit.ly/lipetimelineep2​

ขอบคุณคลิป : LAST LIVE AT LIPE

#ข้อเสนอถึงพรรคการเมืองและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป​ จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ชาวเลจึงรวบรวมข้อเสนอถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่หากได้เป็นรัฐบาลสมัยหน้าหรือไม่ก็ตาม อยากให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ดังนี้​

1. เร่งตรวจสอบและเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเกิดปัญหาเอกสารสิทธิต่างๆ เช่น ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) 1 ใบ บนเกาะนี้ ถูกออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.3) ถึง 3 ใบ และทำให้ทับซ้อนพื้นที่อยู่อาศัยเดิมของชาวเล​

2. จัดทำผังการพัฒนาพื้นที่ทั้งเกาะหลีเป๊ะเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะนั้นไม่ได้ต้องการปิดกั้นการท่องเที่ยวที่เข้ามา และเข้าใจปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ทับซ้อนกัน จึงอยากให้ช่วยจัดการทำผังเกาะหลีเป๊ะ เพื่อให้ทั้งชุมชนชาวเลและรีสอร์ต สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยุติธรรม​

3. ออกแบบและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวเลบนที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมายและประวัติศาสตร์ เนื่องจากคุณภาพชีวิตของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะกำลังถูกเบียดเบียนและเปลี่ยนไป ทั้งการประปา ไฟฟ้า บ้านที่อยู่อาศัย การทำมาหากิน รวมไปถึงการฝังศพ​

4. โครงการโฉนดที่ดินชุมชนเกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะมีปัญหาเรื่องที่ดิน และที่อยู่อาศัย ชาวเลหลีเป๊ะเกินครึ่งไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ทั้งๆ ที่ในอดีตสมัยรัชการที่ 5 ได้ยกที่ดินให้ชาวเลอยู่ แต่ในปัจจุบันที่ดินของพวกเราก็หลุดไปอยู่กับนายทุนบางกลุ่มเพราะการไม่รู้กฎหมาย จึงอยากให้เร่งโครงการนี้เพื่อให้พวกเราได้มีที่อยู่อย่างยั่งยืน​

“จากประเด็นเสวนาเรื่อง “สิทธิที่ดินชาวเลเกาะหลีเป๊ะ” ในเวทีเสวนาครั้งนี้ จึงอยากให้รัฐบาลสมัยถัดไปเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จึงขอฝากเรื่องนี้ถึงทุกพรรคการเมืองให้พิจารณาโดยไว และขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันกระจายข่าวสารนี้ออกไป เพราะเราหวังว่าบ้านที่เราเกิด ที่เราอยู่ และที่เราตาย จะไม่ถูกทำลายหายไป”

“ส่วนประเด็นจากเวทีเสวนาในปัญหาต่อไปอีก สามารถรอติดตามรายละเอียดได้ที่เพจนี้เลย!”.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button