เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้น ITV “พิธา” อยู่อันดับที่เท่าไหร่แน่
ยิ่งช่วงใกล้เลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมาแรงมาก เกมการเมืองยิ่งร้อนแรง ล่าสุดเจออีกบททดสอบ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เตรียมร้องเรียน กกต. เรื่อง พิธาถือหุ้นสื่อ ITV อ้างตรวจสอบพบข้อมูลเชื่อได้ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
ลักษณะดังกล่าว นายเรืองไกรมองว่า อาจขัดต่อมาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส
สรุปดราม่า พิธา ถือหุ้นสื่อ : รายชื่อผู้ถือหุ้น ITV พิธาอยู่ลำดับที่เท่าไหร่
ต้องเข้าใจก่อนว่า ITV หยุดการประกอบธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ไอทีวีไปแล้วตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 เนื่องมาจาก สปน. ได้บอกเลิกสัญญา ส่วนเรื่องหุ้น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน มีผลตั้งแต่ วันที่ 24 กรกฎาคม 2557
สรุปง่าย ๆ คือ ITV ยุติการทำสื่อไปแล้ว
สถานะปัจจุบัน : เวลา 24.00 น. บริษัทจำเป็นต้องหยุดการประกอบธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี สืบเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ของ สปน. และต่อมา มีผลตั้งแต่ วันที่ 24 กรกฎาคม 2557
ที่นี้ ข้อมูลล่าสุด ณวันปิดสมุดทะเบียน เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168 มีรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่
อันดับที่ 1 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 638,602,846 หุ้น คิดเป็น 52.92%
อันดับที่ 2 GOLDMAN SACHS AND CO LLC ถือหุ้น 48,720,694 หุ้น คิดเป็น 4.04%
อันดับที่ 3 นายณฤทธิ์ เจียอาภา ถือหุ้น 26,628,000 หุ้น คิดเป็น 2.21%
*อ้างอิงข้อมูลจาก บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย)
ส่วนหุ้นของนายพิธา นายเรืองไกร อ้างว่า ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2565 “นายพิธา” เป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,138 จำนวน 42,000 หุ้น เลขที่ใบหุ้น 06680180285422 มูลค่าหุ้นละ 5 บาท
ด้านนายพิธาเอง ได้ออกมาตอบโต้ต่อกรณีร้องเรียนของนายเรืองไกรผ่านทวิตเตอร์ว่า “ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะ ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว ทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้ว เมื่อ กกต. ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้”
ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะ ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะ ผจก.มรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ปปช. ไปนานแล้ว
ฝ่ายทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา
เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้
— Pita Limjaroenrat (@Pita_MFP) May 9, 2023
“ขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตนขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางก้าวไกลเราได้อีกแล้ว” พิธา หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ระบุ
มุมนักวิชาการอิสระ ยกคำพิพากษาศาลฎีกาคดี “ชาญชัย” บรรทัดฐานคดีถือหุ้นสื่อ
ทั้งนี้ ในส่วนของมุมมองนักวิชารอิสระ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้มีการแสดงความห็น โดยยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาคดี’ชาญชัย’ถือหุ้นสื่อควรใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีหุ้นสื่ออื่นๆรวมทั้งคดีหุ้น ITV ของพิธา
เนื้อหาจากโพสต์เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง “พัฒนาการ” ของคำตัดสินศาลฎีกาเรื่อง “ผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ” มีเนื้่อหาดังนี้
“พัฒนาการ” ของคำตัดสินศาลฎีกาเรื่อง “ผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ”
คิดว่าควรเขียนถึงเรื่องนี้เสียหน่อย ในฐานะที่เจ้าของเพจเคยโดนคดีละเมิดอำนาจศาลในปี 2562 เพราะเขียนบทความวิจารณ์คำตัดสินคดีถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. (สุดท้ายคดีนั้นศาลสั่ง “ยุติการดำเนินคดี” นะคะ หลังจากที่ขอโทษศาลที่ใช้คำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” แต่ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดข้อหานี้ และยังคงยืนยันความเห็นและข้อสังเกตทั้งหมดตามที่เขียนในบทความ ใครสนใจอ่านได้ที่บล็อก https://fringer.co/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95…/
ก่อนอื่น มาตราเจ้าปัญหาคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้ “บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ“ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
เจตนารมณ์ของมาตรานี้้ (ซึ่งต้องบอกว่า ล้าสมัยและไร้ความหมายไปแล้วในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้ — ดูคำอธิบายในบทความด้านบน) ก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้ “สื่อในมือตัวเอง” สร้างอิทธิพล โปรโมทตัวเองหรือชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็น “มาตราเจ้าปัญหา” ใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่ายดาย ก็คือ มาตรานี้ดันใช้ทั้งคำว่า “เจ้าของ” และคำว่า “ผู้ถือหุ้น” ทั้งที่ในความเป็นจริง ลำพังการเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ถือหุ้น 0.001% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท เป็นต้น) ไม่ได้ทำให้ใครมีสิทธิสั่งการบริษัทสื่อนั้นๆ ให้ทำตามความประสงค์ได้
ดังนั้น ถ้าศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะใช้กฎหมายข้อนี้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ต้องดูว่า A. บริษัทที่ผู้สมัครถือหุ้นอยู่นั้น “ทำสื่อ” จริงๆ หรือไม่ และ B. ผู้สมัครรายนั้นถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะสั่งบริษัทสื่อนั้นๆ หรือมีอำนาจควบคุมหรือไม่ (ข้อนี้ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบ เช่น ตำแหน่งกรรมการ ฯลฯ)
ถ้าดูแบบนี้ คำตัดสินที่เป็นไปได้ ก็มีคร่าวๆ 3 กรณีด้วยกันค่ะ
1. กรณีที่แย่ที่สุด ก็คือถ้าศาลตัดสินโดยไม่ดูทั้ง A และ B เลย ดูผิวเผินแค่ว่า บริษัทนั้นๆ มีคำว่าสื่อ อยู่ในรายการวัตถุประสงค์ของกิจการ (ซึ่งก็เป็น template มาตรฐานที่แทบทุกคนก็ใช้ตามนั้นแหละ) — นี่คือกรณีที่เขียนวิจารณ์ในบทความ
2. กรณีที่ดีขึ้นมาอีก ก็คือการตัดสินโดยดูจาก “ข้อเท็จจริง” (ข้อ A ข้างต้น) นั่นคือ ดูว่าบริษัทที่ผู้สมัครถือหุ้นอยู่นั้น “ทำสื่อ” จริงหรือไม่ — แนวการให้เหตุผลแบบนี้ใช้ในคำตัดสินหลายสิบคดี เมื่อปี 2563 ช่วงที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดนร้องเรื่องนี้กันระนาว สุดท้ายศาลตัดสินให้คดีส่วนใหญ่ “ไม่ผิด” โดยดูข้อเท็จจริงอย่างที่บอก (ตัวอย่างข่าว https://www.pptvhd36.com/…/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0…/135700)
3. กรณีที่ดีที่สุด แน่นอนหมายถึงการตัดสินตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ดูแค่ว่าบริษัทที่ถือหุ้นอยู่นั้น ยัง “ทำสื่อ” อยู่ อย่างเดียวไม่พอ ต้องดูด้วยว่าถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะมีอำนาจควบคุมหรือสั่งการหรือไม่ (ข้อ A และ B ข้างต้นประกอบกัน) — เราได้เห็นคำตัดสินกรณีที่ดีที่สุดนี้แล้ว ในคำพิพากษาเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมานี้เอง เคสที่ คุณชาญชัย ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ถูก กกต. นครนายก ตัดสิทธิ์เป็นผู้สมัคร ส.ส. เพียงเพราะถือหุ้น AIS 200 หุ้น
ศาลฎีกาพิพากษาชัดเจนในกรณีนี้นะคะว่า กกต. นครนายก ตีความไม่เป็นไปตามเจตนารณ์ของกฎหมาย และสั่งให้ กกต. คืนสิทธิการสมัคร ส.ส. ให้กับคุณชาญชัย (ตัวอย่างข่าว และคำพิพากษาศาลฎีกา https://www.isranews.org/…/isr…/118255-isranews-325.html )
ดังนั้นถ้าดูตามลำดับเวลา จะเห็นว่าศาลฎีกาก็ตีความข้อนี้ “ดีขึ้น” โดยลำดับ จากกรณีที่แย่ที่สุดในปี 2562 มาถึงกรณีที่ดีที่สุด ยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2566 นี้เอง
ฃก็หวังว่าศาลฎีกาจะรักษาพัฒนาการที่ดีนี้ต่อไป คำตัดสินคดีคุณชาญชัยละเอียดมาก ควรใช้เป็น “บรรทัดฐาน” ในการตัดสินคดีหุ้นสื่ออื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดในตอนนี้ รวมคดีหุ้น ITV ของคุณพิธา และคดีในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการฟ้องร้องกลั่นแกล้งกัน
จนกว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตราเจ้าปัญหานี้ได้สำเร็จ และห้ามการกลั่นแกล้งกันด้วยกฎหมายของ “นักร้อง” ทั้งหลายที่ควรไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กับประเทศจริงๆ มารอติดตามกันต่อไป