สุขภาพและการแพทย์

รู้จัก โซเดียมไทโอซัลเฟต ยาแก้พิษไซยาไนด์ วิธีใช้ และผลข้างเคียง

ทำความรู้จัก โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate) สารแก้พิษไซยาไนด์ ส่องประโยชน์ และวิธีใช้อย่างถูกต้อง พร้อมผลข้างเคียง

ในปัจจุบัน การโดนวางยาพิษอย่าง ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นเรื่องที่คนเริ่มระวังตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเป็นของเหลวใส มีกลิ่นอัลมอนด์ขม ทำให้เรานั้นไม่อาจรู้ได้เลยว่ากำลังถูกวางยาหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนควรรู้คือยาแก้พิษไซยาไนด์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate) ซึ่งวันนี้ Thaiger จะพาทุกคนมาทำความรู้จักสารชนิดนี้เพิ่มขึ้นกัน พร้อมวิธีใช้แก้พิษอย่างถูกวิธี

โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate) สารแก้พิษไซยาไนด์

โซเดียมไทโอซัลเฟต หรือ โซเดียมไธโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate/Sodium thiosulphate) สารประกอบอนินทรีย์ที่มีสูตรทางเคมี Na₂S₂O₃·xH₂O ผลึกของแข็งที่ไม่มีสีหรือมีสีขาว สามารถละลายน้ำได้ง่าย โดยทั่วไปมักนำมาใช้ประโยชน์เป็น ยาใช้ต้านพิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide) โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ในรูปของสารละลายสำหรับฉีดและใช้ควบคู่ไปกับโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) และยาป้องกันเชื้อรา

สำหรับในประเทศไทย คณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยาต้านพิษจากไซยาไนด์และใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โซเดียมไทโอซัลเฟต

ประโยชน์ของ โซเดียมไทโอซัลเฟต

ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ไฮโปซัลเฟน (Hyposulfene), ซาโกเฟน (Sagofene), โซเดียม ไทโอซัลเฟต นิว เอเชียติก ฟาร์ม (Sodium Thiosulfate – New Asiatic Pharm), โซเดียม ไทโอซัลเฟต อินเจ็คชั่น ยูเอสพี (Sodium Thiosulfate injection USP), ไทโอเฟน (Tiofene), วาโคซัลเฟน (Vacosulfene) ฯลฯ มีสรรพคุณดังนี้

ใช้ในทางการแพทย์

โซเดียมไทโอซัลเฟต ใช้ในการรักษาพิษไซยาไนด์ รวมถึงการรักษาโรคผิวหนังเฉพาะที่ของกลากและเกลื้อน และรักษาผลข้างเคียงบางอย่างของการฟอกเลือด และเคมีบำบัด โดยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติให้ใช้โซเดียมไทโอซัลเฟต ภายใต้ชื่อทางการค้า Pedmark เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อหู และการสูญเสียการได้ยินในทารก เด็ก และวัยรุ่น ที่ได้รับยาเคมีบำบัดซิสพลาติน จากโรคมะเร็ง

ล้างภาพถ่าย

สารประกอบ ซิลเวอร์ฮาไลด์ เช่น AgBr ซึ่งเป็นส่วนประกอบทั่วไปของอิมัลชันสำหรับถ่ายภาพ จะละลายเมื่อใช้โซเดียมไทโอซัลเฟตที่เป็นน้ำ โดยมี จอห์น เฮอร์เชล เป็นผู้ค้นพบความสามารถนี้ ในฐานะตัวยึดเกาะสำหรับการถ่ายภาพ

ดังนั้นในแง่ของงานภาพ โซเดียมไทโอซัลเฟตจึงใช้สำหรับการสร้างทั้ง ฟิล์มและกระดาษภาพถ่าย โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อสารช่วยถ่ายภาพเรียกว่า ‘ไฮโป’ จากชื่อทางเคมีเดิม คือ ไฮโปซัลไฟต์ แต่โดยทั่วไปแล้ว แอมโมเนียมไธโอซัลเฟต เป็นที่นิยมมากกว่า โซเดียมไธโอซัลเฟตสำหรับการใช้งานนี้

การบำบัดน้ำคลอรีนให้เป็นกลาง

ใช้ในการกำจัดคลอรีนในน้ำประปา รวมทั้งลดระดับคลอรีนสำหรับใช้ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สระว่ายน้ำ สปา และภายใน โรง บำบัดน้ำ เพื่อบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ ด้วยปฏิกิริยารีดักชันนั้นคล้ายคลึงกับปฏิกิริยารีดิวซ์ไอโอดีน

โซเดียมไธโอซัลเฟต จะทำปฏิกิริยากับโบรมีนโดยกำจัดโบรมีนอิสระออกจากสารละลาย สารละลายของโซเดียมไธโอซัลเฟตมักใช้เป็นข้อควรระวังในห้องปฏิบัติการเคมีเมื่อทำงานกับโบรมีน ไอโอดีน หรือตัวออกซิไดเซอร์ที่แรงอื่น ๆ

โซเดียมไทโอซัลเฟต
Credit: people.bu.edu

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

โซเดียมไทโอซัลเฟตจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะปลดปล่อยธาตุกำมะถันออกมาเพื่อเปลี่ยนสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษให้เป็นสารไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ซึ่งไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งก่อนใช้ยา สิ่งที่ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบคือ

  • ประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาโซเดียมไทโอซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้
  • การใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟตร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งหรือยาเคมีบำบัดบางตัว เช่น ยาซิสพลาติน (Cisplatin) สามารถลดความเป็นพิษของซิสพลาตินที่ทำให้ไตของผู้ป่วยเสียหาย การเลือกใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกันจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนม และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

โซเดียมไทโอซัลเฟต

วิธีใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

การใช้สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากไซยาไนด์ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษา ดังนี้

  • รักษาอาการของผู้ใหญ่ แพทย์จะใช้ ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ภายในช่วง 5-20 นาที ในขนาด 300 มิลลิกรัม จากนั้นจะใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 12.5 กรัม ในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟตซ้ำอีกหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาทั้งสองตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง
  • รักษาอาการของเด็ก แพทย์จะใช้ ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ในขนาด 4-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม) หลังจากนั้นจะให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในรูปของสารละลาย (สูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม) และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง

การใช้เป็นยารักษาเกลื้อน ให้ใช้ยาน้ำโซเดียมไทโอซัลเฟตชนิด 20-25% ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็นเกลื้อนหลังอาบน้ำ วันละ 2-4 ครั้ง ถ้าดีขึ้นควรทายาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ (ควรเตรียมยานี้สด ๆ ในขณะที่ต้องใช้ เมื่อผสมน้ำแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 5 วัน)

โซเดียมไทโอซัลเฟต

ผลข้างเคียงของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

สำหรับยาโซเดียมไทโอซัลเฟตแบบฉีด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (อาการอันไม่พึงประสงค์) ได้ เช่น การมีอาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ตาพร่า ประสาทหลอน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะมาก ความดันโลหิตต่ำ มีอาการปวดบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจพบภาวะหูดับ เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักยา, medthai

 

baesittichot

นักเขียนสายฮาอารมณ์ดี ไลฟ์สไตล์ เรื่องน่ารู้ทั่วไป ตามติดเทรนด์ฮิตที่ห้ามพลาด อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ประสบการณ์งานเขียนมากกว่า 1 ปี ชอบเม้าท์มอย ส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจผ่านตัวอักษร ผลงานทุกชิ้นจึงเป็นเหมือน 'เพื่อน' ที่อยากเล่าสิ่ง ๆ ต่างให้คุณได้รู้เป็นคนแรกเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button