รู้จัก ‘ไซยาไนด์’ (Cyanide) สารเคมีอันตราย พิษร้ายแรง ให้ทั้งประโยชน์และโทษ
กลายเป็นคดีที่สังคมจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ สำหรับเรื่องราวของหญิงสาวรายหนึ่งที่วูบหมดสติขณะปล่อยปลา นำไปสู่การสืบสวนและบุกค้นบ้านผู้ต้องสงสัย ก่อนจะพบว่าที่บ้านของผู้ต้องสงสัยมีขวด “ไซยาไนด์” ฝังดินอยู่ ซึ่งล่าสุดวันที่ 25 เมษายน 2566 ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยพร้อมของกลางคือขวดไซยาไนด์ได้แล้ว
สำหรับหลักฐานสำคัญอย่าง ไซยาไนด์ (Cyanide) หลายคนก็คงจะพอทราบกันมาบ้างแล้วว่าเป็นสารพิษอันตราย หากสิ่งมีชีวิตได้รับไซยาไนด์ในปริมาณมากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ วันนี้เดอะไทยเกอร์จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปทำความรู้จักไซยาไนด์ สารอันตรายที่มีทั้งโทษและประโยชน์ พร้อมข้อแนะนำหากได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายต้องทำอย่างไร ไปติดตามอ่านพร้อม ๆ กันได้เลย
‘ไซยาไนด์’ สารพิษอันตรายที่ควรระวัง
ไซยาไนด์ คืออะไร รู้ข้อมูลเบื้องต้นของสารอันตรายชนิดนี้
ไซยาไนด์ (Cyanide) คือ สารเคมีอันตรายที่มีความเป็นพิษสูงมากและออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว หากมนุษย์ได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณ 0.5-3.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะมีผลต่อร่างกายอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ โดยไซยาไนด์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซลล์ในร่างกายสิ่งมีชีวิต แต่ถ้าได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากสามารถขับพิษทิ้งทางปัสสาวะได้
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีพันธะคาร์บอนไนโตรเจน (CN) เป็นสารเคมีที่มนุษย์นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนไปในอากาศ ดิน น้ำ และอาหารได้ นอกจากมนุษย์จะสามารถสังเคราะห์สารเคมีไซยาไนด์เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมแล้ว ไซยาไนด์ก็เป็นสารเคมีที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งจะพบได้ในพืชบางชนิดเท่านั้น
นอกจากนี้แหล่งกำเนิดไซยาไนด์ยังสามารถเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญในร่างกายของมนุษย์อีกด้วย โดยไซยาไนด์ที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญนี้เองที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนไซยาไนด์ที่พบในพืชก็สามารถลดความเป็นพิษได้หลายวิธี โดยเฉพาะวิธีการให้ความร้อน หรือ การนำพืชที่มีไซยาไนด์ไปปรุงให้สุกนั่นเอง
รูปแบบของไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีรูปแบบหลากหลายมาก เป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส โดยไซยาไนด์ในแต่ละรูปแบบก็จะมีแหล่งกำเนิดและอันตรายต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกันไป
1. โซเดียมไซยาไนด์ หรือ Sodium cyanide (NaCN)
โซเดียมไซยาไนด์ คือ สารเคมีในรูปแบบของแข็งสีขาว หรือผลึกไม่มีสี ดูดความชื้นในอากาศ พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
ทั้งนี้โซเดียมไซยาไนด์จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. โพแทสเซียมไซยาไนด์ หรือ Potassium cyanide (KCN)
โพแทสเซียมไซยาไนด์ มีสีขาว ลักษณะเป็นแกรนูลหรือเป็นผงดูดความชื้น มีกลิ่นของ bitter almond ละลายได้ดีในน้ำ ใช้ประโยชน์ในการทำความสะอาดโลหะ การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ใช้ในการสกัดแร่ทองและเงินออกจากสินแร่ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสีย้อม ใช้เป็นสารกำจัดแมลง
หากโพแทสเซียมไซยาไนด์เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ และเมื่อได้รับควันพิษนั้นเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดอาการผิวหนังเป็นผื่นแดงเนื่องจากเนื้อเยื่อไม่สามารถใช้ออกซิเจนจากเลือดได้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างพลังงานและเกิดภาวะเลือดเป็นกรดแล็กติก นอกจากนี้โพแทสเซียมไซยาไนด์ก็ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
3. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ หรือ Hydrogen cyanide (HCN)
ไฮโดรเจนไซยาไนด์ คือ ไซยาไนด์รูปแบบอิสระ อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา
สำหรับชื่ออื่นของไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่ใช้เรียกกันก็มี กรดไฮโดรไซยาไนด์ และ กรดปรัสซิก เป็นต้น โดยจะละลายในน้ำได้ดีและไวต่อปฏิกิริยากับตัวออกซิไดซ์ อาจระเบิดได้เมื่อถูกความร้อนหรือเปลวไฟ
4. ไซยาโนเจนคลอไรด์ หรือ Cyanogen chloride (CNCl)
ไซยาโนเจนคลอไรด์ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม จุดเดือด 13.8 องศาเซลเซียส จุดหลอมเหลว -6 องศาเซลเซียส ไม่ติดไฟ สามารถละลายได้ดีใน น้ำ แอลกอฮอล์ อีเทอร์ และสารตัวทำละลายอินทรีย์อื่น ๆ
เมื่อได้รับไซยาโนเจนคลอไรด์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้อ่อนแรง ปวดหัว สับสน คลื่นไส้ หรืออาเจียน ในรายที่ไม่รุนแรง ความดันโลหิตยังคงอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตามชีพจรจะเพิ่มขึ้น อัตราการหายใจจะหลากหลายตามความเข้มข้นของการสัมผัส เช่น ในรายที่สัมผัสเล็กน้อยจะหายใจเร็วขึ้น หรือช้าลง หรือมีอาการหอบหายใจทางปากในรายที่สัมผัสสารเคมีปริมาณมาก
การออกฤทธิ์ของไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมีอาการอย่างไร
เมื่อมนุษย์ได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในเบื้องต้นจะมีอาการระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส (ผิวหนัง หรือ ดวงตา) รวมถึงอาการร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดของไซยาไนด์ ปริมาณ และระยะเวลาที่ได้รับสารเคมีชนิดนี้ สำหรับผลกระทบของไซยาไนด์ที่มีต่อร่างกายจะบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ภาวะเป็นพิษเฉียบพลัน
ภาวะเป็นพิษเฉียบพลันจากการได้รับไซยาไนด์เป็นอาการที่พบได้ยาก โดยสารพิษจะส่งผลต่อร่างกายในทันที อาจทำให้เกิดอาการ หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก หรือหมดสติ
2. ภาวะเป็นพิษเรื้อรัง
สำหรับภาวะเป็นพิษเรื้อรังนั้นเกิดจากการได้รับสารไซยาไนด์ในปริมาณเล็กน้อยเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน เบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น
หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
วิธีรับมือหากร่างกายสัมผัสกับไซยาไนด์
หากได้สัมผัสกับไซยาไนด์ที่เป็นสารเคมีอันตราย สิ่งที่ควรปฏิบัติในขั้นแรกคือการลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด โดยสามารถปฏิบัติได้ตามข้อแนะนำต่อไปนี้
1. สัมผัสไซยาไนด์ผ่านผิวหนัง
หากร่างกายสัมผัสกับไซยาไนด์ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารพิษไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ
และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษจากไซยาไนด์ไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
2. สูดดมไซยาไนด์เข้าร่างกาย
หากสูดดมอากาศที่มีสารไซยาไนด์ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้นทันที หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
3. สัมผัสไซยาไนด์ทางดวงตา
หากสัมผัสไซยาไนด์ผ่านทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออกจากดวงตาในทันที จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป
4. ดื่มหรือรับประทานไซยาไนด์
หากรับประทานหรือดื่มสารเคมีไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย โดยทางผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาและให้รับออกซิเจนเพิ่ม จากนั้นก็เข้ารับการรักษาตามแนวทางของแพทย์ต่อไป
ทั้งนี้ สิ่งของบางอย่างที่ปนเปื้อนสารเคมีไซยาไนด์อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษอย่างถูกวิธีก่อนนำกลับมาใช้ สำหรับคอนแทคเลนส์ หรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
จากข้อมูลที่กล่าวมาในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีทั้งประโยชน์และโทษ สำหรับใครที่ต้องคลุกคลีทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีไซยาไนด์ก็ต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้สัมผัสกับสารพิษ หรือหากเผลอไปสัมผัสเข้าแล้วละก็ต้องรีบกำจัดสารพิษออกจากร่างกายตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญให้มากที่สุด และรีบเดินทางไปพบแพทย์โดยด่วน