ท่องเที่ยวอีเว้นท์

เที่ยวสงกรานต์ วันไหลพระประแดง 2567 สัมผัสมวัฒนธรรมรามัญ 19-21 เม.ย.

ชวนเล่นน้ำให้ชุ่มฉ่ำกับงานใหญ่ประจำปี สงกรานต์ วันไหลพระประแดง 2567 หลังสัปดาห์สงกรานต์สิ้นสุด แต่สงกรานต์พระประแดงยังไม่จบ เช็กวันจัดงาน พร้อมวิธีเตรียมตัวเดินทางเที่ยวกันเลย

เข้าสู่ช่วงหน้าร้อนจนแทบละลายแบบนี้ เป็นสัญญาณว่าเทศกาลสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทยปีนี้กำลังจะมาถึงในไม่ช้าแล้ว วันนี้ทีมงานไทยเกอร์ขอชวนพี่น้องชาวไทยมาเตรียมตัวเที่ยวงาน สงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2567 กัน อีกหนึ่งเทศกาลเล่นน้ำสุดยิ่งใหญ่ของท้องที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่วัยรุ่นน่าจะรู้จักดี งานนี้มีอะไรน่าเที่ยว จัดวันไหน เที่ยวยังไง ที่นี่มีคำตอบให้หมด

Advertisements
สงกรานต์พระประแดง 2567
ภาพจาก : FB เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality

ชุ่มฉ่ำรับปีใหม่ไทย เทศกาลสงกรานต์พระประแดง 2567

ในปี 2567 งานเทศกาลสงกรานต์พระประแดง เริ่มวันที่ 19 – 21 เมษายน 2567 เป็นงานที่ได้รับความนิยมเป็นประจำทุกปีที่มีการจัดงาน โดยมักจะจัดในสัปดาห์ถัดจากสงกรานต์ เรียกได้ว่าเป็นงานประเพณีเล่นน้ำที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวที่ยังไม่จุใจกับการเล่นน้ำสงกรานต์ในช่วงวันเทศกาล ก็สามารถได้เดินทางมาเล่นน้ำต่อได้ที่นี่

ในปีนี้งานจะจัดขึ้นในวันที่ 19 – 21 เมษายน 2567 รวมถึงพิธีแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผชาติสุดอลังการ เริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

โดยหากอ้างตามข้อมูลในปีที่ผ่านมา งานสงกรานต์พระประแดงจะจัดงานในพื้นที่หลายบริเวณ เพื่อรองรับกระแสนักท่องเที่ยวที่จะมาร่วมงาน ได้แก่ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ชุมชน/หมู่บ้านชาวรามัญภายในเขตเทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

สงกรานต์พระประแดง 66

ประวัติ สงกรานต์พระประแดง

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมทีเป็นที่รู้จักในชื่อ สงกรานต์ปากลัด ประเพณีนี้ไม่ได้มีเพียงการเล่นน้ำสงกรานต์เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังบรรจุวัฒนธรรมที่สวยงามตามฉบับชาวไทยรามัญดั้งเดิมไว้มากมาย

Advertisements

เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดบ้านเรือนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่หลายชนชาตินำไปปฏิบัติเพราะเชื่อว่าจะเป็นการนำพาความเป็นมงคลมาให้แก่ชีวิต และเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดี จากนั้นแต่ละบ้านจะมาร่วมกันทำขนมข้าวเหนียวแดง กวนกาละแม เพื่อนำไปแจกจ่ายญาติ เพื่อนบ้าน มิตรสหาย เป็นการแสดงน้ำใจและถือเป็นของขวัญรับปีใหม่ให้แก่กัน

นอกจากธรรมเนียมปฏิบัติในครอบครัวแล้ว แต่ละหมู่บ้านก็จะจัดพิธีและขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนแห่นางสงกรานต์, ขบวนรถบุปผาชาติ, ขบวนแห่สาวรามัญ-หนุ่มลอยชาย, ขบวนแห่นกแห่ปลา เป็นต้น

สงกรานต์พระประแดง 66

นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติสืบกันมามากมาย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ขบวนแห่นางสงกรานต์

ขบวนแห่นางสงกรานต์มักจะจัดแห่ในวันสุดท้ายของงานสงกรานต์พระประแดง โดยขบวนนี้จะมีการแห่ตัวแทนนางสงกรานต์ประจำปี 7 คน แทนลูกสาวของท้าวมหาสงกรานต์ ทั้ง 7 จากนั้นก็จะนำขบวนไปทำพิธีปล่อนนกปล่อยปลา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อชาวมอญ

ประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป

ชาวมอญก็มีประเพณีสรงน้ำพระเช่นเดียวกับชาวไทย สมัยก่อนจะนิยมไปสรงน้ำกันที่วัดโปรดเกษเชษฐาราม ในช่วงเย็นหนุ่มสาวจะนำน้ำอบไปสรงที่พระพุทธรูปรอบวัด ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพรับถือ จากนั้นในระหว่างทางก็จะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ไปตลอดทางกลับบ้าน

ประเพณีทำบุญน้ำผึ้ง

ชาวมอญจะมีการทำบุญน้ำผึ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยประเพณีนี้จะเป็นการนำอาหารคาวและหวาน รวมถึงน้ำผึ้งไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เหตุที่นำน้ำผึ้งมาถวายพระก็เพื่อให้พระนำไปใช้ทำน้ำกระสายยาสมุนไพร หรือคลุกปั้นเข้ากับยาผงทำเป็นยาลูกกลอน เชื่อกันว่ามีฤทธิ์เป็นยาอายุวัฒนะ นี่จึงเป็นที่มาของประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งนั่นเอง

ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์

สำหรับประเพณีส่งข้าวสงกรานต์ จะมีขึ้นในวันที่ 13 – 15 เมษายน เท่านั้น ในอดีตบ้านที่รับหน้าที่ทำประเพณีนี้ จะปลูกศาลเพียงตาโดยใช้ทางมะพร้าวกับธงเป็นวัสดุในการสร้าง จากนั้นก็จะหุงข้าวโดยนำข้าวไปซาวน้ำ 7 ครั้งเพื่อกรองสิ่งสกปรกออก ก่อนจะนำมาแช่และหุงร่วมกับน้ำดอกมะลิ จากนั้นนำไปใส่หม้อดิน

ข้าวที่ได้จะนำมาใส่จัดกระทงในถาด ร่วมกับกับข้าว ได้แก่ ไข่เค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักกาดเค็ม ของหวาน คือ ถั่วดำต้มน้ำตาล จัดทั้งหมด 10 กระทง เท่ากับจำนวนของวัดมอญในเขตพระประแดงนั่นเอง

ประเพณีการกวนกาละแมปากลัด (กวันฮะกอ)

นอกจากนี้ยังมีประเพณีกวนกาละแม หรือที่เรียกว่า กวันฮะกอ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ญาติสนิทมิตรสหาย และถือโอกาสมารวมตัว พบปะกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ

ปิดท้ายที่ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ ซึ่งมีความหมายที่สำคัญใส่ไว้ในประเพณีด้วย เนื่องจากหงส์เป็นสัญลักษณ์ของหงสาวดี เมืองหลวงดั้งเดิมของชาวมอญ ส่วนตะขาบ เป็นสัญลักษณ์แทนชาวมอญที่ไม่กลัวการรุกรานของศัตรู พร้อมสู้ เหมือนตะขาบที่มีเขี้ยวเล็บและพิษไว้ป้องกันตัวเอง

นิทรรศการแสดง แสง สี เสียง ตำนานสงกรานต์พระประแดง

สำหรับงานสงกรานต์พระประแดงปีนี้มีความพิเศษ เนื่องจากมีการจัดนิทรรศการแสดง แสง สี เสียง ตำนานสงกรานต์พระแดง ยามค่ำคืน จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า ในโอกาสที่ประเพณีสงกรานต์ ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ตั้งแต่วันที่ 18 – 20 เมษายน 2567 เข้าชมฟรี

นิทรรศการแสดง แสง สี เสียง ตำนานสงกรานต์พระแดง 2567
ภาพจาก : FB เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality

วิธีเดินทางไปร่วมงานสงกรานต์ ที่พระประแดง

สำหรับใครที่สนใจอยากเดินทางไปร่วมงานสงกรานต์พระประแดง สามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้

1. รถส่วนตัว ใช้รถส่วนตัวเดินทางมายังงานสงกรานต์พระประแดง โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 303 ถนนสุขสวัสดิ์ มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรปราการ หรือปักหมุด Google Map มาที่ ที่ว่าการอำเภอพระประแดง

2. รถสองแถว นั่งสายที่เข้าตลาดปากน้ำ มาลงที่บริเวณหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นต่อรถเมล์ ปากน้ำ-พระประแดง ไปลงสุดสายที่ท่าน้ำพระประแดง

3. BTS นั่งมาลงที่สถานีสำโรง จากนั้ต่อรถตู้หรือรถสองแถวเพื่อไปท่าน้ำพระประแดง

การประกวดนางสงกรานต์-หนุ่มลอยชาย พระประแดง ปี 2567

นอกจากการเล่นสงกรานต์หลังเทศกาลวันสงกรานต์ ที่เป็นจุดขายของเทศกาลสงกรานต์พระประแดงแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของสงกรานต์พระประแดงที่จัดเป็นประจำทุกปี คงหนีไม่พ้นการประกวดนางสงกรานต์ และหนุ่มลอยชาย พระประแดง เพื่อชิงเงินรางวัล ถ้วยรางวัล รวมถึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนแห่นางสงกรานต์อีกด้วย สำหรับรายละเอียดนั้น มีดังนี้

การประกวดนางสงกรานต์ พระประแดง ประจำปี 2567

สำหรับการประกวดนางสงกรานต์นั้น รับสมัครหญิงสาวผู้ที่มีอายุระหว่าง 17 – 23 ปี (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2550) โดยตำแหน่งและเงินรางวัล มีดังนี้

  • นางสงกรานต์ : ได้รับถ้วยรางวัล, เงินรางวัล 50,000 บาท และสายสะพาย
  • นางประจำปี : ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 30,000 บาท
  • นางฟ้า : ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 10,000 บาท (5 รางวัล)
  • ขวัญใจช่างภาพ : ได้รับถ้วยรางวัล, เงินรางวัล 10,000 บาท และสายสะพาย
  • สาวงามรามัญ : ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท (5 รางวัล)

เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 15 เมษายน 2567 ณ กองการศึกษา เทศบาลเมืองพระประแดง (ชั้น 4)

นางสงกรานต์ พระประแดง 2567
ภาพจาก : FB เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality

การประกวดหนุ่มลอยชาย พระประแดง ประจำปี 2567

สำหรับการประกวดหนุ่มลอยชายนั้น รับสมัครชายหนุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2542 – 2549) โดยตำแหน่งและเงินรางวัล มีดังนี้

  • ชนะเลิศหนุ่มลอยชาย : ได้รับถ้วยรางวัล, เงินรางวัล 20,000 บาท และสายสะพาย
  • รองชนะเลิศอันดับ 1 : ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 10,000 บาท
  • รองชนะเลิศอันดับ 2 : ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 8,000 บาท
  • ขวัญใจช่างภาพ : ได้รับถ้วยรางวัล, เงินรางวัล 5,000 บาท และสายสะพาย
  • หนุ่มรามัญ : ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท (2 รางวัล)
หนุ่มลอยชาย พระประแดง 2567
ภาพจาก : FB เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality

สำหรับปฏิทินของการประกวดนางสงกรานต์ และหนุ่มลอยชาย พระประแดง ประจำปี 2567 มีดังนี้

  • รอบซ้อมใหญ่ : วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567
  • วันประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย (รอบตัดสิน) : วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567
  • พิธีเปิดงานสงกรานต์พระประแดง 2567 : วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567

ทั้งนี้ การประกวดนางสงกรานต์ และหนุ่มลอยชาย พระประแดง ประจำปี 2567 เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 15 เมษายน 2567 ณ กองการศึกษา เทศบาลเมืองพระประแดง (ชั้น 4) ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ (ยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ไม่รับสมัครแบบออนไลน์)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : phrapradaeng.samutprakan, SCB Thailand

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button