ข่าว

ศูนย์พิษรามาฯ เผย 2 วิธีเช็กซีเซียมที่ถูกหลอม เป็นตัวเดียวกับตัวที่หายหรือไม่

ศูนย์พิษรามาฯ เผย 2 วิธีตรวจสอบ “ซีเซียม” ที่ถูกหลอมเป็นตัวเดียวกับตัวที่หายหรือไม่ ระบุ สารกัมมันตรังสีที่หายไปมีปริมาณ 505 ไมโครกรัม รุนแรงน้อยกว่าเคสเชอร์โนบิล 56.7 ล้านเท่า

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่สุโขเพลส ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชากอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พร้อมด้วย รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และ ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันแถลงข่าว ซีเซียมกับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู

Advertisements

โดย ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ กล่าวว่า ตามปกติซีเซียม 137 มีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและใช้ใน รพ. โดยในโรงงานอุตสาหกรรมนำมาใช้วัดระดับขี้เถ้า วัดระดับสิ่งต่างๆ หรือการวัดความหนาของกระดาษหรือเหล็ก

ซีเซียมคืออะไร
ภาพ @รามาแชนแนล Rama Channel

ส่วนกรณีซีเซียมที่หายไปจากแถลงของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ความแรงรังสีอยู่ที่ 41.4 mCi จากเดิม 80 mCi เนื่องจากเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ก็ลดลงครึ่งหนึ่งตามค่าครึ่งชีวิต

หากแปลงเป็นค่าน้ำหนักอยู่ที่ 0.000505 กรัม หรือ 505ไมโครกรัม

หากเปรียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิด เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล วันที่ 26 เม.ย.2529 ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 27 กิโลกรัม ก็ต่างกัน 56.7 ล้านเท่า

ส่วนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ วันที่ 11 มี.ค. 2554 ก็ต่างกัน 11 ล้านเท่า

Advertisements

กรณีเทียบกับเหตุการณ์โคบอลต์ 60 ที่สมุทรปราการ ปี 2543 ความแรงรังสีที่เกิดจากการผ่าตัววัสดุห่อหุ่มข้างนอก ก็รุนแรงกว่าครั้งนี้ 1 พันเท่า

ศูนย์พิษรามา แถลงข่าวซีเซียม
ภาพ @รามาแชนแนล Rama Channel

สำหรับซีเซียม 137 มีจุดเดือดต่ำกว่าเหล็ก คือจุดเดือด 671 องศาเซลเซียม เมือ่เกิดการหลอมซีเซียมจึงระเหยเป็นไอ ไม่อยู่ในแผ่นเหล็กที่หลอมออกมา แต่ซีเซียมจะระเหยเป็นไอและฝุ่นในห้องหลอม การล้างห้องหลอมหรือไอและฝุ่นไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิด ก็มีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือปลิวไปในอากาศ

ซึ่งหัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชากอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ก็ระบุว่า เท่าที่ทราบกรณีนี้มีการเก็บฝุ่นของการหลอมในห้องระบบปิด โอกาสฝุ่นจะหลุดรอดออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมมีค่อนข้างน้อย

ดังนั้น ที่กังวลเรื่องซีเซียมรั่วไหลมาข้างนอก ชาวบ้านประชาชนโดยรอบหรือคนทำงานในโรงงานโรงหลอม จะสูดเอาไอฝุ่นซีเซียมเข้าไป เราจึงต้องเฝ้าระวัง คนทำงานอยู่ในโรงหลอม เพราะมีโอกาสสูงที่รับไอซีเซียม 137 ส่วนรอบโรงงานที่มีการวัดปริมาณรังสีจาก ปส. 5-6 จุด ปัจจุบันปริมาณที่วัดได้ยังเทียบเท่ากับปริมาณรังสีพื้นหลังหรือปริมาณรังสีที่เรารับทั่วไปในธรรมชาติอยู่แล้ว คือ 0.02-0.05 อาจจะยังไม่ต้องกังวลมาก

ส่วนที่ถามว่าซีเซียม 137 ที่ถูกหลอม เป็นตัวที่หายไปหรือไม่ ในจุดนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาและวิธีการเฉพาะพิสูจน์ ต้องใช้ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์และทางเคมี มี 2 วิธีใหญ่ๆ พิสูจน์ คือ

  1. การรวบรวมฝุ่นที่เกิดขึ้น วัดปริมาณรังสีในฝุ่น แล้วทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณรังสีเริ่มต้นได้ ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมฝุ่นกลับมา
  2. จากการสอบถามนักเคมีจะใช้วิธีการหาปริมาณตัวซีเซียม 137 ที่ออกมาจากตัวสารกัมมันตรังสี ฝุ่นที่โรงงานหลอม เปรียบเทียบกับซีเซียมที่เป็นสารคงตัวในธรรมชาติ ดูว่าเกิดการสลายตัวมานานเท่าไรแล้ว คำนวณเป็นสารกัมมันตรังสีว่าใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอกระบวนการพิสูจน์ ศ.นพ.วินัย แนะนำให้ประชาชนในพื้นที่หรือจังหวัดข้างเคียงเฝ้าสังเกตวัสดุต้องสงสัย หากเจอวัสดุคล้ายให้แจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สายด่วน 1296 ปิดกั้นบริเวณที่เจอ เนื่องจากรังสีเหมือนคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ ไม่สามารถสัมผัสได้ ต้องเอาเครื่องมือมาวัด รังสีก็เช่นกัน จะมีเจ้าหน้าที่เอาอุปกรณ์วัดรังสีมาช่วยสำรวจและเก็บวัสดุนั้นต่อไป ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงหลอมเหล็ก สามารถปฏิบัติตนได้ตามปกติ

ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากรับสารซีเซียมเข้าร่างกาย

ด้าน รศ.พญ.สาทริยา กล่าวว่า ซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตรังสี มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี สลายตัวจะปล่อยรังสีเบตาและแกมมา เมื่อรับซีเซียม 137 ส่งผลต่อร่างกาย แต่ผลขึ้นกับปริมาณหรือขนาดที่รับ ระยะเวลา หรือบริเวณของร่างกาย มีทั้งผลระยะสั้นและระยะยาว

รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ซีเซียม
ภาพ @รามาแชนแนล Rama Channel

ระยะสั้นมีผลเฉพาะที่ เช่น ผิวหนังมีผื่นแดง คันบวม ตุ่มน้ำหรือแผลขึ้นได้ อาจมีผมหรือขนร่วงได้ ส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายโดยฉับพลัน คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการรับปริมาณรังสีสูงฉับพลัน จะเกิดอาการหลายระบบ มีอาการนำ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว จากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราว 1-3 สัปดาห์ จากนั้นจะมีอาการระบบต่างๆ 3 ระบบ คือ ระบบโลหิต มีผลไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงต่ำลง

ระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน และระบบประสาท ซึม ชัก สับสน ขึ้นกับความรุนแรงที่ได้รับ ส่วนผลระยะยาว คือ มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้

สำหรับการเฝ้าระวังรอบโรงงาน เชื่อว่า รพ.บริเวณดังกล่าวและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมาตรการตรวจ ว่าจะตรวจอะไรบ้าง ความถี่เท่าไร รพ.มีแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button