สาธารณสุขจังหวัด เตรียมประเมินอาการ 70 คนงาน สัมผัสซีเซียม-137
สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี เผย กัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเคสต้องสงสัยสัมผัสกัมมันตรังสีอันตรายถึงตอนนี้ยังไม่พบ รอเช็กเคส 70 คนงานกลุ่มเสี่ยง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ชี้เป็นการหลอมในระบบปิด เจ้าหน้าที่ลงเช็กการแผ่รังศียังไม่พบปนเปื้อน
จากกรณีวันนี้ (20 มี.ค.66) นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมณูและสันติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวความคืบหน้า ยืนยันการตรวจพบ สารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ที่บริษัทแห่งหนึ่งใน ต.หาดนางแก้ว จ.ปราจีนบุรีนั้น
ล่าสุด นพ. สุรินทร์ สืบซึ้ง ได้กล่าวในงานแถลงข่าวถึง เรื่องมาตรการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ โดยหลังเกิดเหตุได้มีการประสานไปหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 1 เดือน ว่ามีเคสที่มีอาการต้องสงสัยว่าสัมผัสกัมมันตรังสีหรือไม่
จากข้อมูล นายแพทย์สุรินทร์ ยืนยันว่า ถึงตอนนี้ยังไม่พบเคสต้องสงสัยใด ขณะเดียวกันได้ปรึกษากับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่ากรณีแบบนี้จะมีความเสี่ยงอย่างไรหรือมาก-น้อยเพียงใดได้ ก็ได้ข้อมูลจากหน่วยงานว่า มีความเสี่ยงน้อยเพราะเป็นการหลอมในระบบปิดโอกาสที่ความเสี่ยงไปถึงชุมชนมีน้อย เนื่องจากยังอยู่แค่ในขั้นตอนของโรงหลอมเหล็กเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ระบุ จะมีการตรวจสุขภาพให้กับพนักงานในโรงหลอมทั้งหมด ราวๆ 70 คน (เป็นคนงานต่างด้าว 60 ราย และคนไทย 10 ราย) เพราะกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยง
ทั้งนี้ อันตรายของสารซีเซียม 137 นั้น เมื่อได้รับเข้าไปในร่างกายซีเซียมสามารถกระจายไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่กล้ามเนื้อและกระดูก บางส่วนจะไปอยู่ในตับและไขกระดูก สุดท้ายจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ
นายแพทย์สาธารณสุข ยังระบุอีกว่า กัมมันตภาพรังสีนี้ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงทำให้ผู้ที่สัมผัสอาจไม่รู้ตัว แต่หลังจากนั้นภายในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน จะเริ่มแสดงอาการทางระบบต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุ ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ซึ่งอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคาดว่าเหตุการณ์น่าจะเกิดมาแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ทางสาธารณสุขจังหวัด จึงจะมีการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบเป็นระยะๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่ทางคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
ขณะที่ นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เปิดเผยว่า จากลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง โดยใช้เครื่องมือในการตรวจสอบวัดแผ่รังสีบริเวณรอบๆ โรงงานดังกล่าวรัศมี 5 กิโลเมตร มีการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และอากาศ ไปตรวจสอบไม่พบการฟุ้งกระจาย หรือปนเปื้อนของสารซีเซียม 137 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฯ ยืนยันว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในโรงงานดังกล่าวถูกควบคุมอยู่ในพื้นที่จำกัด และจากการตรวจพนักงานไม่พบการเปรอะเปื้อนของสารซีเซียม 137 เช่นกัน.