ข่าว

ประวัติ ครูบาศรีวิชัย ไทยเตรียมเสนอเป็นบุคคลสำคัญของโลก

เปิดประวัติ “ครูบาศรีวิชัย” พระสงฆ์รูปสำคัญของภาคเหนือ หรือ ดินแดนล้านนา ภิกษุผู้เปรียบเสมือนเสาหลัก ดวงไฟ และนำทาง แห่งเส้นทางการศาสนาและจิตวิญญาณผู้คนในพื้นถิ่น

ประวัติ ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา

จากข้อมูลในหนังสือ สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ของ สิงฆะ วรรณสัย ได้ระบุข้อมูลชีวิตชั้นต้นของ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ไว้ว่า ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ หรือเดือน 7 ของภาคกลาง ตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน ในปัจจุบันคือ ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ท่านเป็นบุตรของนายควาย และนางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน บ้านเกิดของพวกเขาคือ บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน ในวันที่นางอุสาเจ็บท้องจะคลอดลูก พระอาทิตย์ได้คล้อยต่ำลงไปเกือบจะ 6 โมงเย็น นายควายและญาติพี่น้องพร้อมด้วยหมอตำแย ได้ดูแลการคลอดของนางอุสาอย่างเต็มที่ และในขณะนั้นท้องฟ้าอากาศที่สว่างไสวกลับมืดครึ้ม เกิดพายุแรงพัดกระหน่ำสายฝนตกลงมาอย่างหนักและมีเสียงฟ้าร้อง

จนกระทั่งในที่สุด นางอุสาก็ได้คลอดทารกน้อยออกมาพร้อมกับเสียงร้องไห้และเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งเมื่อเสียงฝนและพายุก็หยุดสงบลง ทำให้ครอบครัวของนายควายได้ตั้งชื่อเด็กน้อยที่เกิดขึ้นมาว่า ‘เด็กชายอินท์เฟือน’ ตามภาษาล้านนาแปลว่ากระเทือนหรือกัมปนาท

เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มน้อยอายุ 17 ปี นายเฟือนได้เข้าสู่เส้นทางธรรม บวชเป็นเณรที่วัดบ้านปาง ร่ำเรียนวิชาต่าง ๆ กับครูบาขัตติยะ เมื่อสามเณรอินตาเฟือนมีอายุย่าง 21 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน ได้รับฉายานามว่า ‘สิริวิชโยภิกขุ’ หรือ ‘พระศรีวิชัย’

พระศรีวิชัย เป็นที่ร่ำลือกันว่า ท่านเป็นผู้มีศรีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด อาทิ ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ นอกจากนี้ยังงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักจะเป็นผักต้มใส่กับเกลือและพริกไทย

ด้วยจริยวัตรอันเคร่งครัดของท่าน ทำให้เกิดแรงศรัทธาแก่เหล่าพุทธศาสนิกชน กระทั่งรวบรวมเหล่าพุทธศาสนิกชนทำการสร้างทางเดินขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นผลสำเร็จ โดยเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478

นอกจากที่ท่านจะสร้างทางขึ้นดอยสุเทพแล้ว ท่านยังได้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทย รวมทั้งการสร้าง และบูรณวัดต่าง ๆ หลายวัด ท่านเป็นผู้ทรงศีล จนได้รับขนานนามว่า “พระครูบาศีลธรรมเจ้า”

พระศรีวิชัย ให้ความสนใจในวิชาอาคม และยึดถือเป็นของวิเศษ นำพาความเจริญสู่ชีวิตมาให้ และว่ากันว่า ด้วยความเลื่อมใสในวิชาอาคม พระศรีวิชัยมีความคิดที่จะลาสิกขา รวมทั้งท่านยังได้สักขาหมึกดำทั้ง 2 ข้างตามความนิยมของชายล้านนาสมัยนั้น

ในเวลานั้นครูบาขัตติยะมรณภาพลง พระศรีวิชัยจึงได้ทำบุญฌาปนกิจพระอาจารย์ หลังจากนั้นด้วยท่านเป็นพระที่มีพรรษามากที่สุดในขณะนั้น ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัด จากนั้นจึงทำการย้ายวัดจากที่ตั้งเดิมขึ้นไปอยู่บนเขา และให้ชื่อว่า “วัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรือง”

ชื่อเสียงของครูบาเจ้าศรีวิชัยทำให้พระสังฆาธิการในจังหวัดลำพูนบางรูปนำโดยเจ้าคณะจังหวัดลำพูนตั้งอธิกรณ์กล่าวหาว่าท่าน 8 ข้อ อาทิ ทำตัวเป็น “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมกำลังผู้คน คิดขบถต่อบ้านเมือง และนำท่านไปจำไว้ที่ลำพูนและวัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ จากนั้นจึงได้ส่งตัวท่านไปไต่สวนที่กรุงเทพฯ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องพระศรีวิชัย ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) และพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ได้ถวายรายงานมีความเห็นว่า ข้อ 1-5 ซึ่งเกี่ยวกับการไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง พระศรีวิชัยรับสารภาพและได้รับโทษแล้ว ข้อที่เหลือซึ่งเกี่ยวกับการอ้างคุณวิเศษ พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เพราะประชาชนเล่าลือไปเอง และเจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับภูมิลำเนา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณโรรสทรงเห็นชอบ

ครูบาศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนา ดังนี้

  • ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
  • ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
  • ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
  • ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา
  • ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
  • ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ครูบาศรีวิชัย กับการก้าวขึ้นเป็นบุคคลสำคัญของโลก

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวภายหลังการร่วมคณะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ร่วมรับฟังข้อเสนอการสนับสนุนแผนแม่บทโครงการเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลก

รวมถึงติดตามการดำเนินงานในจังหวัดเชียงใหม่ ว่ากระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทหลักในการสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนการเสนอชื่อ ครูบาเจ้าวิชัย ให้ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพในวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย ในพ.ศ.2571 ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

ประวัติ ครูบาศรีวิชัย
ภาพจาก : ครูบาศรีวิชัย

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button