ชุดแต่งงานบาบ๋า ‘ปอย ตรีชฎา’ สวยเลอค่า ทองทั้งชุด งดงามฉบับเปอรานากัน
ขอแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาวป้ายแดง “ปอย-ตรีชฎา หวงษ์หยก” และ “โอ๊ค-ภควา หงษ์หยก” มา ณ ที่นี้อีกครั้ง หลังจากทั้งสองจัดพิธีแต่งงานหวานชื่นตามธรรมเนียมชาวภูเก็ตไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่างานนี้สาวปอยจัดเต็มสวมชุดแต่งงานบาบ๋า อลังการเฉิดฉายแบบสุด ๆ
นอกจากแฟน ๆ จะได้ร่วมชื่นชมแสดงความยินดีกับ ปอย-โอ๊ค ก็ยังได้เห็นภาพชุดแต่งงานบาบ๋า ย่าหยา ภูเก็ต ตามวัฒนธรรมเปอรานากัน หรือ เพอรานากัน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นมลายูและจีนฮกเกี้ยนอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นภาพพิธีวิวาห์ที่ต้องถูกจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์ชาวไทยในดินแดนภาคใต้เลยทีเดียว
สำหรับรายละเอียดของชุดเจ้าสาวที่ ปอย ตรีชฎา สวมใส่อยู่นั้นก็ได้มีเพจเฟซบุ๊ก อีจี้จุ๋ม ออกมาให้ข้อมูลไว้ว่า “จี้ว่าชุดบ่าวสาวบาบ๋านี่โรแมนติกสุดๆชุดนึงเลยถ้าเปรียบเทียบกับชุดแต่งงานชาติอื่นๆ ของเราจีนสม (ผสม) แขก แต่งทีเดียวต้องมาแบบสวยและรวยจัด ประโคมกันจากปลายผมถึงปลายตีนแล้วกันแอ้ะ (หัวถึงปลายเท้า) แต่เช้าปอยแต่งตัวเอาหลาย ชม ฮายยย เห็นดูวแรง กว่าขี้เสร็จ (จะจบ) เดินแบกทองคำแท้หลายกิโลหนักยังก่ะยกเวทแอ้ะ
ตั้งแต่แรก (โบราณ) การห่มทองห่มเพชรของเจ้าสาว นอกจากบ่งบอกถึงฐานะของทั้งสองครอบครัวแล้ว ยังมีความหมายว่าอนาคตของคู่แต่งงานจะอู่ห่าว (มั่งคั่งรำ่รวย) สองคนจะช่วยกันสร้างครอบครัวที่มีความสุข และกิจการให้เจริญงอกงาม เงินทองไหลมาเทมา ช่วงส่งตัวเข้าหอ เจ้าสาวก้าวเท้าเข้าบ้านด้วยหีบสมบัติและผ้าแพรเนื้อดีที่พ่อแม่ให้ติดตัวมา เค้าเล่ากันว่าถมๆ สมบัติให้ลูกสาวมาต้ะ ใภ้เหมี่ย ได้แลขึ้น (ดูมีราศรี) กันบ้านผัวข่มเหง ฮ่าๆๆ มึน
เครื่องเพชรทองส่วนมากจะทำใหม่เป็นของขวัญ 1 ชุด เจ้าสาวบางคนได้ 2 ชุดจากบ้านตัวเองและบ้านแม่ผัว เพชรทองชุดที่เจ้าสาวใส่มักจะเป็นชุดที่เป็นมรดกของครอบครัวที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จะเป็นของบ้านตัวเองหรือของบ้านเจ้าบ่าวก็ได้
บางบ้านที่รวยมาก ส่งคนใช้ตามมาเป็นพรวนด้วยหลาวโด้ กลัวลูกสาวลำบาก และคอยเป็นออกุ้ย (เผือก) คอยส่งข่าวให้ และเงินทองที่พ่อแม่เจ้าบ่าวมอบให้เริ่มต้นชีวิต มิน่าครอบครัวฐานะเท่าๆกันเค้าถึงแขบ (รีบ) ให้อึ่มหลาง (แม่สื่อ) ต้าวถาวกัน (จับคู่) ตั้งแต่อายุ 18-19 ก่อนลูกบ่าวไปคว้าใครแค่ (ที่) แม่ผัวไม่ปลื้ม เพราะ 1 บวก 1 จะเท่ากับ 3”
เรียกได้ว่าเป็นชุดที่ประโคมด้วยทองคำแท้และเพชรตั้งแต่หัวจรดเท้าตามวัฒนธรรมเปอรานากันทั้งชุด โดยจะเห็นว่าเป็นชุดครุยตัวยาว ลักษณะค่อนข้างหลวมโคร่งไม่มาก มีแขนยาวและปลายแขนสอบ คอรูปตัววีและมีการผ่าด้านหน้า โดยชาวมลายูจะเรียกชุดดังกล่าวนี้ว่า “บาจู ปันจัง”
ซึ่งจะมาพร้อมชุดเครื่องประดับ “โกรสัง” โดยทั้งหมดนี้ได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากชุดของผู้หญิงในปีนัง มะละกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ทว่าในวัฒนธรรมชุด “บาบ๋า” ที่ชาวภูเก็ตรับมานั้น จะประยุกต์ให้ชุดมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยตัดเย็บเป็นเสื้อครุบครึ่งท่อน สั้นคลุมสะโพก แต่ยังมีการสวมเครื่องประดับโกรสังตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม
ในส่วนของเครื่องประดับโกรสังจะมีทั้งหมด 3 ชิ้น ลักษณะคล้ายเข็มกลัดเสื้อ โดยชิ้นแรกมัรูปทรงเหมือนหัวใจตกแต่งด้วยเพชรลูก ส่วนอีกสองชิ้นที่เหลือจะเป็นเครื่องประดับทรงกลม คล้ายวงแหวนขาดใหญ่ ตกแต่งเป็นลายดอกไม้ ใช้สำหรับกลัดที่เสื้อแทนเม็ดกระดุม
ด้านเครื่องหัวหรือมงกุฎเจ้าสาวนั้นจะเรียกว่า “ฮั่วก๋วน” คือ ดอกไม้ไหว โดยจะสวมหัวกับเฉพาะการเกล้ามวยผมแบบ “ชักอีโบย” ของเจ้าสาวเท่านั้น ในอดีตฮั่วก๋วนจะทำขึ้นจากเส้นเงิน เส้นทองแท้ และไข่มุก เสริมสง่าราศีให้แก่เจ้าสาวผู้สวมใส่อย่างมาก
นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องประดับอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็น “หลั่นเต่ป๋าย” หรือสร้อยคอที่ทำด้วยทองคำฉลุลายและฝั่งเพชร “อ่องโบ่” ต่างหูทองคำประดับเพชร แหวน และกำไลข้อมือประดับเพชรซีก สุดอลังการและงดงามเป็นอย่างมาก สมฐานะของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวที่สุด