ข่าวเกมส์เทคโนโลยี

สรุปดราม่า ‘Atomic Heart’ เกมรัสเซียโดนแบน อาจเอี่ยวสงครามยูเครน

ดราม่า ‘Atomic Heart’ เกมแนวยิงจากบริษัทรัสเซีย โดนโยงอาจมีเอี่ยวสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน หลังจากรัฐบาลยูเครนเรียกร้องให้ร้านค้าและผู้เล่นแบนเกมนี้

เหตุดราม่ามีได้ทุกแห่งหนไม่เว้นแม้กระทังโลกของวีดิโอเกม หลังจากที่ “Atomic Heart” เกมยิงแนว FPS จากประเทศรัสเซีย (Rusasia) ที่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ไม่นาน ก็ถูกทางรัฐบาลยูเครนออกมาประกาศเรียกร้อง ให้ร้านค้าและผู้เล่นเกมนี้ทั่วโลก “แบน” เกมนี้กันอย่างจริงจังในเขตประเทศต่าง ๆ สืบเนื่องจากรัฐบาลยูเครนมองว่าบริษัทผู้พัฒนาเกม Atomic Heart อาจมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการสนับสนุนให้เกิดสงครามรุกรานในยูเครนนั่นเอง

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของยูเครน Alex Bornyakov ออกมากล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์จากการวางจำหน่าย Atomic Heart ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศรัสเซีย ด้วยการที่ตัวเกมพยายามจะสนับสนุนความเป็นคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียต ด้วยการนำเสนอที่ดูสวยงาม ทำให้ทางกระทรวงดิจิทัลจะส่งจดหมายอย่างเป็นทางการไปยัง Sony, Microsoft, และ Valve เพื่อร้องขอการแบนการขายเกมนี้แบบดิจิทัลในประเทศยูเครน แล้วเราจะขอเรียกร้องให้จำกัดการจัดจำหน่ายเกมนี้ในประเทศอื่นๆ ด้วยจากความท็อกซิกของมัน, ความเป็นไปได้ที่จะเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับการยินยอม แล้วยังเป็นไปได้ที่จะใช้เงินที่ได้จากการขายเกมไปสนับสนุนการทำสงครามกับยูเครนด้วย”

ทั้งนี้ทีมงาน Thaiger ได้รวบรวมข้อมูล ย้อนไทม์ไลน์สรุปดราม่าของเกม “Atomic Heart” ว่ามีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์สงครามในยูเครนอย่างไรบ้างตามรายละเอียดข้างล่างนี้เลยครับ

สรุปดราม่าเกม “Atomic Heart”

บริษัท Mundfish คือผู้พัฒนาวิดีโอเกมในมอสโก ประเทศรัสเซียที่เพิ่งเปิดตัวพร้อมวางจำหน่ายเกม “Atomic Heart” โดยเราจะรับบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ KGB (หน่วยสายลับของกองทัพสหภาพโซเวียตในอดีต) ที่เซ็ตเหตุการณ์สมมติอยู่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหาพโซเวียตชนะสงครามด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ล้ำยุคที่มาพร้อมอาวุธพิฆาตมหาประลัย ทว่าหุ่นยนต์เหล่านั้นก็เกิดความผิดปกติบางอย่าง จนทำให้พวกมันไล่ฆ่ามนุษย์ เกิดเป็นสงครามระหว่างมนุษยชาติและจักรกล

เรียกได้ว่าเกม Atomic Heart ก็ไม่ต่างอะไรกับเกมสงครามในบางประเทศ ที่มีการโฆษณาชวน เชื่อ (Prioaganda) แฝงเอาไว้อย่างแนบเนียน ทว่ากลับมีข่าวลือว่าบริษัทผู้พัฒนาเกมอย่าง Mudfish มีความใกล้ชิดต่อรัฐบาลรัสเซีย และอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่หนุนหลังรัสเซียในการรุกรานยูเครน

ดราม่า Atomic Heart

ย้อนกลับไปในวันที่ 16 มกราคม 2566 บริษัทมันด์ฟิชได้ออกมาชี้แจงว่า “พวกเราได้รับรู้ถึงข้อกังขาเกี่ยวกับจุดยืนของเราแล้ว ทั้งนี้เราต้องการยืนยันว่า มันด์ฟิชเป็นผู้พัฒนาและสตูดิโอที่มีทีมงานระดับโลกที่มุ่งเน้นไปที่การทำวีดิโอเกมเป็นหลัก และปัจจัยในการสนับสนุนสันติภาพ พร้อมทั้งต่อต้านความรุนแรงต่อผู้คน

“อย่างไรก็ตาม เราจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองหรือศาสนา เพราะเราเป็นทีมงานระดับโลกที่มุ่งเน้นที่จะให้ Atomic Heart อยู่ในมือของเกมเมอร์ทุกที่ทั่วโลก… เราไม่และจะไม่เอาผิดกับผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ส่งสแปมด้วยภาษาหรือเนื้อหาที่ก้าวร้าว แสดงความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ รุนแรง หรือคุกคามต่าง ๆ”

ทำให้ผู้ที่ได้อ่านถ้อยแถลงดังกล่าวก็ตีความออกไปว่าการที่ Mundfish กล่าวไม่ชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านสงคราม เป็นกลวิธีในการหลีกเลี่ยงการพูดถึงจุดยืนของสงครามโดยตรงนั่นเอง

นอกจากนี้ Mundfish ยังเคยออกมาแก้ข้อกล่าวหา กรณีนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Mundfish Store ที่มีข้อความสื่อถึงนัยสำคัญว่า “เราเป็นบริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัสเซีย และจะนำข้อมูลของคุณให้แก่หน่วยงานความมั่นคงรัสเซีย (FSB)” โดยชี้แจงว่า ตัวเกมและเว็บไซต์จาก Mundfish ไม่ได้รวบรวมข้อมูลใด ๆ พร้อมทั้งกล่าว่าคำแจ้งสิทธิ์ส่วนบุคคลของเว็บไซต์เป็นแบบเดิมที่ยังไม่ได้รับการอัปเดต จากนั้นก็ได้ปิดปรับปรุง Mundfish Store เพื่อสร้างความมั่นใจต่อกลุ่มลูกค้า ทั้งกล่าวขออภัยจากความผิดพลาดในครั้งนี้ แต่ก็มีหลายคนออกมาให้ความเห็นว่า การตอบคำชี้แจงดังกล่าวก็ไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่า ก่อนหน้านี้ Mundfish เคยให้ข้อมูลผู้ใช้แก่ FSB หรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ชาวโซเชียลยังได้ขุดพบข้อูลน่าสงสัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปริศนาแหล่งที่มาของเงินทุน ที่คาดว่ามีบริษัท Tencent บริษัทจีนที่ลงทุนเกี่ยวกับบริษัทเกม, บริษัท Gaijin Entertainment ผู้จัดจำหน่ายเกมของฮังการี และบริษัท GEM Capital ซึ่งเป็นกองทุนของรัสเซียที่ก่อตั้งโดย “อนาโตลี พาลีย์” ที่มีประวัติทำงานให้กับบริษัทในเครือก๊าซพรอม (Gazprom) เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานในรัสเซียที่ได้รับการกำกับดูแลจากภาครัฐอีกด้วย

ดราม่าเกม Atomic Heart 2023

อีกทั้ง หนึ่งในผู้ก่อตั้งมันด์ฟิชอย่าง โรเบิร์ต บากราตูนี ยังเคยทำงานเป็นผู้จัดการของ Mail.ru หรือที่รู้จักกันในชื่อ แอปพลิเคชั่น VK อย่างที่ทราบกันดีว่าแอปฯ วีเค มีการเซ็นเซอร์เนื้อหารต่อต้านรัสเซีย แต่สนับสนุนการให้ข้อมูลในฝั่งรัสเซียอย่างโจ่งแจ้ง

อย่างไรก็ตาม กระแสดราม่าการแบนเกม Atomic Heart ดังกล่าวก็ข้ามทะเลมาสู่เกมเมอร์ชาวไทยอย่าง พี่เอก HEARTROCKER หลังประกาศยุติการทำคอนเทนต์เกมดังกล่าว เหตุหวั่นกระทบดราม่าสงครามในยูเครน

สรุปแล้ว ดราม่าความเชื่อมโยงของ Mundfish กับรัสเซียได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับการเปิดตัว Atomic Heart แม้ว่าบริษัทจะระบุว่าไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง แต่ผู้เล่นบางคนอาจเลือกที่จะไม่สนับสนุนเกมเนื่องจากเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

อ้างอิง : 1 2

Thaiger deals

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button