Line Newsไลฟ์สไตล์

วันอาสารักษาดินแดน 10 กุมภาพันธ์ ครบ 70 ปี พลเรือนใจหาญ

เวียนมาบรรจบอีกครั้งกับวันสำคัญเดือนกุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน 2567 เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของการสถาปนา กองอาสารักษาดินแดน อ่านประวัติและที่มาของวันอาสารักษาดินแดน แม้จะไม่ใช่วันที่ถูกระบุไว้ในปฏิทินทุกฉบับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากมิใช่จิตใจที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวของพลเรือนอาสาเหล่านี้ ชาติไทยคงไม่สามารถดำเนินอยู่อย่างเป็นปึกแผ่นมาได้ตราบจนทุกวันนี้

ประวัติ วันอาสารักษาดินแดน ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์

อาสารักษาดินแดน หรือ กองอาสารักษาดินแดน มีชื่อย่อว่า อส. สมาชิกของกองกำลังนี้ มิใช่ทหารมืออาชีพ แต่เป็นกลุ่มราษฎรและพลเรือนที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน เป็นกองกำลังสำรองทั้งในภาวะปกติและในยามเกิดสงคราม รวมถึงภารกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาด้านสาธารณสุข ฯลฯ

Advertisements

กองอาสารักษาดินแดนจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และมีปณิธานในการปฏิบัติหน้าที่ว่า “ปวงข้า อส. ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพารา จนสิ้นใจ”

กองอาสารักษาดินแดน
ภาพจาก : Facebook กรมการปกครอง fanpage

ช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2484 เกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นยกพลเข้าแผ่นดินประเทศไทย โดยสมัยนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ส่งกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง

ดังนั้นจึงมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสงครามและประชาชนโดยตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรม และทำให้ประชาชนตระหนักรู้ในหน้าที่ป้องกันประเทศ และรักษาชาติในภาวะของสงคราม โดยออกมาถึง 2 ฉบับ ได้แก่

  • พระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2481
  • พระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. 2484

กองอาสารักษาดินแดนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังนี้

  • ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเป็นหน่วยบริหารจัดการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
  • ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเป็นหน่วนบริหารจัดการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และมีนายอำเภอ เป็นผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ มีกำลังพลระดับปฏิบัติ คือ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
กองอาสารักษาดินแดน
ภาพจาก : Facebook กรมการปกครอง fanpage

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช 2497 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ออกมาเป็นครั้งแรก เป้าหมายคือเพื่อรับสมัครพลเรือนอาสาทั้งชายและหญิง เข้าเป็นสมาชิกกองกำลังอาสารักษาดินแดน และกองกำลังสำรองประจำท้องถิ่น

Advertisements

สมาชิกพลเรือนอาสาเหล่านี้ จะมีหน้าที่ช่วยเหลือชาติในยามเกิดสงครามรวมถึงภาวะปกติ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนขึ้นอีกด้วย ตั้งแต่นั้นมาจึงยึดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันอาสารักษาดินแดนนั่นเอง

กองอาสารักษาดินแดนในปัจจุบัน

เครื่องแบบสีน้ำตาลที่มีลายพราง คือ เครื่องแบบอันเป็นสัญลักษณ์ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ทุกปีจะมีการเปิดรับสมัครคัดเลือกสมาชิกใหม่ เข้ากองอาสารักษาดินแดนปีละ 100 คน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 60 ปี มีสัญชาติไทย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องถิ่นที่มีการเปิดรับสมัคร สามารถเข้าร่วมการสอบคัดเลือกได้ จากนั้นก็เข้ารับการอบรม ฝึกหัด ฝึกซ้อม ก่อนจะออกไปปฏิบัติหน้าที่จริง

วันอาสารักษาดินแดน 2566
ภาพจาก : Facebook กรมการปกครอง fanpage

หน้าที่ของอาสารักษาดินแดน

สำหรับหน้าที่ของอาสาสมัครรักษาดินแดนที่ได้มีการระบุไว้ในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 มีทั้ง 6 ข้อ ดังนี้

1. บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก

หน้าที่ข้อแรกของกลุ่ม อส. ก็คือการดูแลความเป็นอยู่ ความปลอดภัยให้กับบ้านเมืองและประชาชน โดยดูแลยามเกิดภัยธรรมชาติที่เหนือการควบคุม เช่น อุทกภัย อัคคีภัย รวมถึงป้องกันอันตรายที่เกิดจากข้าศึก

2. ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

แม้ว่าอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของ อส. จะไม่มากเหมือนตำรวจหรือทหาร แต่กองอาสารักษาดินแดนก็เป็นกำลังที่มีส่วนช่วยสำคัญในการแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่

3. รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม

หน้าที่ในส่วนนี้คือ ช่วยอำนวยความสะดวกบนท้องถนนเมื่อการจราจรหนาแน่น ให้ผู้คนสามารถสัญจรไปมาได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสอดส่องดูแลสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในแต่ละท้องที่

4. ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว

สอดส่องดูแล และเป็นหูเป็นตาให้กับบ้านเมือง และรายงานความผิดปกติที่พบ เพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

5. ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก

เป็นหน้าที่ที่ระบุไว้เนื่องจากช่วงที่มีการประกาศพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมา เป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง

6. เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น

เมื่อยามบ้านเมืองเกิดภาวะสงคราม สมาชิกอาสารักษาดินแดนก็จะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือด้านกองกำลังให้กับทหาร

วันอาสารักษาดินแดน 2566
ภาพจาก : Facebook กรมการปกครอง fanpage

กิจกรรมวันอาสารักษาดินแดน

กิจกรรมในวันอาสารักษาดินแดน เน้นเป็นการทำพิธีเพื่อระลึกถึงความเสียสละและกล้าหาญของเหล่าพลเรือนอาสา ที่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในกองอาสารักษาดินแดน มีการร่วมชุมนุม กล่าวคำปฏิญาณ รายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ในภาพรวม เพื่อติดตามความสำเร็จที่เกิดขึ้นและแก้ไขจุดบกพร่องให้น้อยลง

นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบใบประกาศนียบัตรให้แก่สมาชิกอาสารักษาดินแดน เพื่อสร้างกำลังใจให้มีการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงพิธีมอบทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาของสมาชิกอีกด้วย

ปัจจุบันบทบาทของอาสารักษาดินแดนอาจลดความสำคัญลงไป เนื่องจากบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามดังเช่นในอดีต แต่ความสำคัญของพลเรือนอาสาเหล่านี้จะไม่มีวันลดความสำคัญลงไป เพราะหากไร้กำลังสำคัญเหล่านี้ ก็อาจบอกได้ยากว่าบ้านเมืองไทยของเราจะสามารถรอดปลอดภัยจากช่วงสงครามมาได้หรือไม่

วันอาสารักษาดินแดน 2566
ภาพจาก : Facebook กรมการปกครอง fanpage

สุดท้ายนี้ทีมงานไทยเกอร์ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของวันอาสารักษาดินแดน และขอชื่นชมจิตใจอันเด็ดเดี่ยวของพลเรือนอาสาทุกคนมา ณ ที่นี้.

ขอบคุณข้อมูลจาก: Facebook กรมการปกครอง fanpage, สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน, พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button