รู้จัก ‘เมฆจานบิน’ Lenticular Cloud ที่พบในตุรกี ก่อนเหตุแผ่นดินไหว
พาไปรู้จัก ‘เมฆจานบิน’ Lenticular Cloud ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่หาชมได้ยาก ปรากฏตัวครั้งล่าสุดในน่านฟ้าประเทศตุรกี ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวโยงกันหรือไม่?
ในอดีตที่ผ่านมา ‘เมฆจานบิน’ Lenticular Cloud เคยถูกคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าเป็น ยูเอฟโอ (UFO) ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูแปลกตา ลอยตัวเหนือท้องฟ้า และมีลักษณะกึ่งทรงกลมกึ่งทรงรี ทั้งที่ความจริงแล้ว เมฆจานบินถือเป็นหนึ่งในเมฆที่ดูสวยงามและน่าค้นหามากที่สุด วันนี้เราเลยจะพาทุกท่านไปศึกษาด้วยกันว่า เมฆจานบินที่เพิ่งปรากฏตัวในตุรกีเมื่อต้นปี 2023 แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่
‘เมฆจานบิน’ Lenticular Cloud คืออะไร
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงวันที่ 19 มกราคม 2566 ได้มีผู้คนจำนวนมาก พากันแห่ถ่ายภาพเมฆลักษณะแปลก ที่ลอยตัวเหนือเมืองบูร์ซา จังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศตุรกี ณ บริเวณเชิงเขาอูลูดัก ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญจะออกมาแจ้งในภายหลังว่า สิ่งที่เราเห็นนั่นก็คือ Lenticular Cloud
Lenticular Cloud หรือ เมฆจานบิน (เมฆเลนส์) จัดเป็นหนึ่งใน Wave cloud เกิดขึ้นได้ในชั้นอากาศที่ใกล้กับพื้นดิน ที่มีแรงปะทะกับอุปสรรคทางธรรมชาติ (natural barrier) อาทิ แม่น้ำ ภูเขา ทำให้เกิดแรงดันลมขึ้นในที่สูง กลายเป็นชั้นของเมฆที่ซ้อนตัวแล้วหมุนตามแรงโน้มถ่วง ปรากฏเป็นเมฆจานบินที่เราเห็นกันนั่นเอง
สำหรับเมฆจานบิน ได้มีข้อมูลเปิดเผยว่า มันจะลอยอยู่ในที่อยู่สูงประมาณ 12,000 เมตร บริเวณโดยรอบจะมีความเย็น ทำให้ไอน้ำควบแน่นเป็นลูกเห็บ หิมะ หรือหยดฝนได้ พบเห็นได้ยากในประเทศที่มีภูมิประเทศแบบที่ราบต่ำ
ด้านผู้เชี่ยวชาญของนาซ่า (NASA) ได้พูดถึงภาพเมฆที่พบเจอในตุรกีเอาไว้ว่า “เลนติคูลาร์ก่อตัวขึ้นเมื่อลมแรงพัดผ่านภูมิประเทศที่ซับซ้อน ทำให้ไอน้ำในมวลอากาศสลับกันบีบตัว จากนั้นจึงคลายตัว และควบแน่นเป็นรูปร่างซึ่งสะท้อนภูมิประเทศที่อยู่เบื้องล่างอย่างคร่าว ๆ”
Lenticular Cloud เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวในตุรกีหรือไม่?
กลายเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัย เกี่ยวกับความเชื่อมโยงกันระหว่าง เมฆจานบิน Lenticular Cloud และเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ในประเทศตุรกี ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายพันคน
เนื่องจากคนจำนวนมากมองว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าวเกิดในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยมีวันเกิดเหตุห่างกันเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเมฆที่ปรากฏอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติ
แต่หากอ้างอิงจากข้อเท็จจริงของเมฆจานบินตามหลักวิทยาศาสตร์ จะพบว่าเมฆลักษณะนี้สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ราบสูง และไม่ได้นำมาซึ่งภัยพิบัติเสมอไป ดังนั้นทฤษฎีความเชื่อมโยงนี้ อาจไม่มีน้ำหนักมากพอ ที่จะนำมาเกี่ยวโยงกับเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น
ทว่าในแง่ของจังหวะและความบังเอิญ ก็มีหลายคนเสนอทฤษฎีที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยในธรรมชาติ เพราะในช่วงปี 2011 ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ก็มีคนเจอเหตุการณ์ประหลาด พบเป็นแสงไฟและวัตถุลึกลับวนเวียนไปมา เหนือจุดที่เกิดสึนามิ โดยมีภาพบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีคนอ้างว่า ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวในตุรกีเมื่อปี 1999 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 18,000 คน ก็ปรากฏเมฆคล้ายยูเอฟโอลอยเหนือพื้นดินเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ทฤษฎีความเชื่อมโยงของเมฆเลนส์หรือเมฆจานบิน Lenticular Cloud กับเหตุการณ์แผ่นดินไหว เกิดจากความคิดเห็นของชาวเน็ตและยังไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด ทว่าในแง่ของความสวยงามและแปลกตา เมฆจานบิน Lenticular Cloud ก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเมฆที่หลายคนชื่นชอบมากเลยทีเดียว.
#แผ่นดินไหว #ตุรกี #เมฆประหลาด #ลางบอกเหุต เหตุการณ์ฟ้าแดงเมฆประหลาด คล้ายนัยน์ตายักษ์ที่ตุรกี ไปผูกกับเหตุการณ์ปี 1999 ที่เกิดเมฆประหลาดคล้ายกัน ต่อมาเกิดแผ่นดินไหว และวันที่ 21 ม.ค. 66 ก็เกิดเหตุการณ์เมฆประหลาดนี้เช่นเดียวกัน และเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริงๆ ใน 6 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา pic.twitter.com/T9IsHimSMb
— Sabaidee Thailand (@Sabaideelive) February 7, 2023