สุชาติ สั่งสอบปม พนักงานทรูเสียชีวิต ถามนายจ้างปมให้ทำงานเกิน 36 ชม./สัปดาห์
สุชาติ ชมกลิ่น แสดงความเสียใจพร้อมสั่งสอบปม พนักงานทรูเสียชีวิต ถามนายจ้างปมให้ทำงานเกิน 36 ชม./สัปดาห์หรือไม่
นาย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี เบิร์ด พนักงานทรู ที่ทำงานกับสำนักข่าว TNN เสียชีวิตคาโต๊ะ เนื่องจากทำงานหนักจนร่างกายทรุดโทรม จนกลายเป็นกระแสข่าวดังไปก่อนหน้านี้นั้น
นายสุชาติได้แสดงความเสียใจกับเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมมอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และ นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ให้กับทายาทผู้เสียชีวิต พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยด่วน
ในส่วนสำนักงานประกันสังคม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่า ผู้เสียชีวิตชื่อ นาย ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ อายุ 44 ปี เป็นพนักงานบริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันบนโต๊ะทำงาน ซึ่งบริษัทฯ ของลูกจ้างที่เสียชีวิตอยู่ในเขตความผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3
“ซึ่งหากกรณีดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้ เงินค่าทำศพ จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิ ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 10 ปี เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม แต่หากเสียชีวิตไม่เนื่องจากการทำงานจะได้รับสิทธิเป็นเงินค่าทำศพ 50,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและประสานทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมต่อไป” นายสุชาติ กล่าว
สำหรับในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขณะนี้พนักงานตรวจแรงงานอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานว่านายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น นายจ้าง ได้จัดวันหยุดประจำสัปดาห์ให้กับลูกจ้างหรือไม่ ถ้านายจ้างให้ทำงานโดยไม่ได้กำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ ถือว่านายจ้างมีความผิด ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานล่วงเวลาต้องดูว่าได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือไม่
กรณีที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างมีเพียงกรณีเดียวคือลักษณะของงานที่ต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน จึงจะสามารถสั่งให้ลูกจ้างทำได้ อย่างไรก็ตามการที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ทำงานล่วงเวลา และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วยว่า สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง
หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมเข้าดูแลสิทธิประโยชน์อันมีเป้าหมายการให้บริการและสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ