อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

‘มวยไทย VS กุน ขแมร์’ แตกต่างเหมือนกัน วัฒนธรรมร่วมแผ่นดินอุษาคเนย์

กลายเป็นกระแสถกเถียงกันข้ามวันข้ามคืนหลังจากประเทศกัมพูชา เจ้าภาพการแข่งขันซีเกมส์ 2023 ได้เปลี่ยนชื่อการแข่งขันกีฬามวยไทย” เป็นชื่อกีฬา “กุน ขแมร์” โดยให้เหตุผลว่าเป็นกีฬาประจำชาติ และเป็นต้นกำเนิดของมวยไทย ทว่ากติกาของ กุน ขแมร์ กลับเหมือนมวยไทยทุกประการ ประเด็นนี้เองส่งผลให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) แบนผู้เข้าแข่งขันจากการแข่งขันอื่น ๆ ที่ทางองค์กรรับรอง

จากเหตุการณ์นี้หลายคนอาจสงสัยถึงรากเหง้าของมวยไทยและกุนขแม่ร์ว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน จริง ๆ แล้วมวยไทยมาจากมวยเขมรหรือไม่ มวยทั้งสองสัญชาติมีความแตกต่างกันอย่างไร เดอะไทยเกอร์จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปทำความรู้จักศิลปะการต่อสู้ “มวย” ในภูมิภาคอุษาคเนย์บ้านเรากันให้มากขึ้น

Advertisements

วัฒนธรรม ‘ศิลปะการต่อสู้’ ในภูมิภาคอุษาคเนย์

สัญชาตญาณการป้องกันตัวของมนุษย์แบบไร้อาวุธนั้นก็มีติดตัวมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว โดยเป็นการต่อสู้ในระยะประชิดที่จะใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธ จึงอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เราเรียนรู้การต่อสู้แบบอิสระมาตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์

แต่องค์ความรู้ที่ช่วยต่อยอดให้การทุบตีด้วยมือเปล่ากลายเป็น “ศิลปะการต่อสู้” นั้นเกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งก็แบ่งเป็นแบบแผนออกไปตามแต่ละภูมิภาค โดยทางฝั่งอุษาคเนย์หรือภูมิภาคอาเซียนบ้านเราก็ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมต่าง ๆ มาจากอินเดีย ซึ่งในอดีตวัฒนธรรมจากอินเดียนั้นถือเป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่อีกอารยธรรมหนึ่ง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อารยธรรมใหญ่จะส่งอิทธิพลสู่อารยธรรมในชนชาติที่มีอาณาเขตใกล้กัน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมเขมรส่วนใหญ่รับมาจากอินเดียโดยตรง หรืออาจมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับวัฒนธรรมจากภายนอกที่ใหญ่กว่าตนเองและเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ในพื้นที่เดิม

มวยไทยกับมวยเขมรต่างกันยังไง

ทำความรู้จัก ‘กุน ขแมร์’ คืออะไร

กุน ขแมร์ หรือ Kun Khmer มีอีกชื่อหนึ่งว่า Pradal Serey ถือเป็นกีฬาการต่อสู้ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศกัมพูชา โดยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Kbach Kun Pradal Khmer ซึ่งแปลว่า “การต่อสู้อย่างอิสระ” ไม่ปรากฏหลักฐานว่า กุนขแมร์ หรือ การต่อสู้อย่างอิสระ จากอาณาจักรเขมรมีองค์ความรู้ในการสร้างแบบแผนการต่อสู้จากการวิวัฒนาการวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง หรือรับอิทธิพลแบบแผนการต่อสู้มาจากอินเดีย

Advertisements

เนื่องด้วยคำว่า การต่อสู้อย่างอิสระ หรือ กุน ขแมร์ อาจเป็นคำศัพท์ดั้งเดิมในภาษาเขมร หรืออาจเป็นคำศัพท์ใหม่จากการรับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียก็เป็นได้ แต่ไม่ว่ากุนขแมร์จะมีจุดกำเนิดอย่างไร ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าวัฒนธรรมเขมรเป็นสะพานทอดให้วัฒนธรรมอินเดีย (ที่ผ่านการหลอมรวมกับเขมรมาแล้ว) ส่งอิทธิพลต่อมายังดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะ “ประเทศไทย” ในอดีต

ทั้งนี้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 ยูเนสโก (UNESCO) ก็ได้อนุมัติให้ “กุน ลโบกาตอร์” หรือ Kun Lbokator ซึ่งคนไทยรู้จักในนามของ “มวยเขมร” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) ซึ่งกุนลโบกาตอร์นี้เองก็เป็นหนึ่งในแบบแผนการต่อสู้ที่ต่อยอดมาจากกุนขแมร์

สำหรับ กุน ลโบกาตอร์ ทางยูเนสโกก็อธิบายไว้ว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถือกำเนิดในช่วงจักรวรรดิเขมร (คศ. 9-15) มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็งไปพร้อมกัน โดยมวยเขมร หรือ กุนลโบกาตอร์ ถือเป็นหนึ่งในศิลปะของชาวกัมพูชาที่จะถูกจัดแสดงตามงานหรือพิธีกรรมต่าง ๆ

มวยไทย กุน ขแมร์ ต่างกันยังไง

มวยไทย กับ กุนขแมร์ ต่างกันอย่างไร?

จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นจึงมีข้อสันนิษฐานว่า “มวยไทย” อาจมีการวิวัฒนาการมาจากการต่อสู้แบบท้องถิ่น หรือ รับอิทธิพลแบบแผนจากอารยธรรมที่ใหญ่กว่า เพราะแต่เดิมแล้วการชกด้วยหมัดหรือการเตะต่อยนั้นถือเป็นการต่อสู้มากกว่าที่จะเป็นกีฬาและศิลปะ โดยเน้นที่การใช้อวัยวะในร่างกายเป็นอาวุธอย่างอิสระ ซึ่งในส่วนนี้เองก็มีความสอดคล้องกับ การต่อสู้อย่างอิสระ หรือ กุนขแมร์ ของวัฒนธรรมเขมร

จึงอาจกล่าวได้ว่ารากเหง้ารูปแบบการต่อสู้ของ “คนไทย” อาจมีเสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรแฝงอยู่ หรืออาจเป็นวิวัฒนาการจากการต่อสู้ของคนในท้องถิ่น ทว่าคำจำกัดความของ มวยไทย นั้นมีประเด็นทางประวัติศาสตร์การเมืองแฝงอยู่ด้วย จึงไม่อาจกล่าวได้อย่างแน่ชัดว่ามวยของคนไทยที่มีแบบแผน หรือที่เราเรียกว่า มวยไทย มีจุดกำเนิดอย่างไร

ทั้งนี้ในรัฐจารีตโบราณ “มวย” เป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดเสียมากกว่า แต่ในสมัยรัฐชาติสมัยใหม่ที่ไทยถูกกำหนดเป็นประเทศอย่างชัดเจน “มวย” ถือเป็นการต่อสู้อย่างมีศิลปะหรือมีแบบแผน โดยถูกพัฒนามาจากแม่ไม้ของแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากความต่างของสังคม วัฒนธรรม และสรีระ ของคนแต่ละพื้นที่ที่แยกย่อยออกไปอีก

มวยไทยกับมวยเขมรต่างกันยังไง

ดังนั้นหากจะถามหาความแตกต่างระหว่าง มวยไทย กับ กุนขแมร์ ก็ต้องอาศัยบริบททางประวัติศาสตร์มาช่วยเรียงลำดับจุดกำเนิดของการต่อสู้ประเภทนี้ของคนในภูมิภาคอาเซียนว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพราะหากเทียบกันด้วยลักษณะของท่าทางการต่อสู้ที่เน้นการใช้อวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ก็ไม่อาจแยกมวยไทยกับกุนขแมร์ออกจากกันได้.

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2 3

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button