ข่าว

คดีพลิก สายชาร์จดูดเงิน ที่แท้เหยื่อเผลอโหลดแอปฯ ฝังมัลแวร์

เคสสายชาร์จดูดเงิน ไม่ได้เกิดจากสายชาร์จ แบงก์ชาติร่วมสมาคมธนาคารไทยตรวจสอบแล้ว ต้นเหตุมาจากติดตั้งแอพปลอมถูกมิจฉาชีพฝังมัลแวร์ ล้วงข้อมูลโอนเงินออก

จากกรณีมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียโพสต์ข้อความว่า ได้ชาร์จมือถือวางทิ้งไว้ แต่จู่ ๆ เครื่องดับ เมื่อเปิดโทรศัพท์ขึ้นมาอีกครั้ง กลับมีข้อความจากแอพธนาคารแจ้งว่า มีเงินออกไปหมดบัญชี แสนบาท ทั้งที่ไม่มีการโทรเข้า-โทรออก และไม่มีใครส่งลิงก์ให้ยืนยันข้อมูล และมีการสันนิษฐานว่าเกิดจาก “สายชาร์จดูดเงิน” แล้วถูกแฮกเกอร์ขโมยข้อมูลไปนั้น

Advertisements

ล่าสุด วันที่ 18 ม.ค.66 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมชี้แจงในกรณีนี้ หลังจากได้หารือเพื่อตรวจสอบ พบว่าไม่ได้เกิดจากการใช้งานสายชาร์จปลอม แต่เกิดจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอพพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชี โดยอาจเลือกทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์

ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีวิธีหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแอพพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม เป็นต้น และมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดใช้การหลอกลวงให้ติดตั้งแอพพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์

ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการออกมาตรการต่างๆ ให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติ และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่

  • ปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบนโมบายแบงก์กิ้งอย่างต่อเนื่อง
  • ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกล
  • แก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน
  • จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์เพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวกและอายัดบัญชีได้รวดเร็วขึ้น
  • ประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ แจ้งเตือนภัย และให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือและการตอบสนองให้เท่าทันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการพัฒนากลไกความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยสามารถป้องกันภัยในเบื้องต้นได้ ดังนี้

1.ไม่คลิกลิงก์จาก SMS LINE และ อีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ

Advertisements

2.ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรม นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store เช่น Play Store หรือ App Store เท่านั้น

3.อัปเดตโมบายแบงก์กิ้งให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ หรือตั้งค่าให้มีการอัปเดตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกลรวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

4.ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอพพลิเคชันใด ๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย เป็นต้น

5.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งาน เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ธปท. ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่ตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งหากได้ตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัว สถาบันการเงินต้องรีบพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยเร็วภายใน 5 วัน

สายชาร์จ

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button