‘ประยุทธ์’ ห่วงใยประชาชน กลับบ้านช่วงปีใหม่ 2566
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผย ประยุทธ์ ห่วงใยประชาชน กลับบ้านช่วงปีใหม่ 2566 กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังลดอุบัติเหตุ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ 2566 โดยขอให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลตนเองให้ดี ให้ปลอดภัยทั้งจากการเดินทางโดยยานพาหนะต่าง ๆ รวมถึงปลอดภัยจากโควิด-19
ขณะนี้แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยดีขึ้นแล้ว แต่ก็ขอให้ประชาชนไม่ประมาท ควรมีการป้องกันตนเองให้ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องออกเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่จะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เครื่องบิน รถโดยสารสาธารณะ หรือขณะที่อยู่ในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น สถานีขนส่ง ตลาด สถานที่ท่องเที่ยวที่แออัด ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อโควิดฯ ได้ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อ ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันป้องกันไม่ให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดใหญ่ซ้ำอีก
นายอนุชาฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น อำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชน ตลอดจนให้คำแนะนำ และกวดขันพฤติกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ นำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ (13 ธันวาคม 2565) แผนดังกล่าวแล้ว ไปปฏิบัติ ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
“สำหรับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่สำคัญ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปปฏิบัติ เช่น (1) จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ระดับส่วนกลาง จังหวัด กรุงเทพมหานคร อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ (2) การลดปัจจัยเสี่ยงโดยดำเนินการมาตรการเชิงรุก ได้แก่ การประชาคมชุมชน/หมู่บ้าน มาตรการเคาะประตูบ้าน ด่านครอบครัว ด่านชุมชน และการจัดกิจกรรมทางศาสนา “1 อำเภอ 1 กิจกรรม รวมไปถึงสำรวจ ตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย และจัดทำแผนอำนวยความสะดวกการจราจร
รวมทั้ง กำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานประจำรถ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด และการตรวจสอบสภาพรถตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนเข้มงวดกวดขันกับผู้ใช้รถกระบะที่บรรทุกน้ำหนักเกิน และรถบรรทุกขนาดเล็กที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย และเข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถเช่าของผู้ประกอบการธุรกิจให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย อีกทั้งให้มีการเตรียมการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการติดต่อสื่อสาร การประสานงาน และการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเครือข่ายและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น” นายอนุชาฯ กล่าว