ปชช. แห่ชม ฝนดาวตกเจมินิดส์ เฉลี่ย 150 ดวงต่อชั่วโมง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยประชาชนให้ความสนใจ ฝนดาวตกเจมินิดส์ เผยอัตราตกสูงสุด เฉลี่ยประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง
เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้เผยแพร่ภาพบรรยากาศฝนดาวตกเจมินิดส์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยมีประชาชนชาวไทยสนใจจับจองพื้นที่เพื่อดูฝนดาวตกเจมินิดส์เป็นจำนวนมาก
ทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า “เก็บบรรยากาศชม #ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 ธันวาคม 2565 ชาวไทยสนใจติดตามชมฝนดาวตกกันคึกคัก โดยเฉพาะเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยลาน จ.เชียงใหม่ ประชาชนนับพันร่วมนอนนับดาวตก ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เริ่มเห็นตั้งแต่สองทุ่ม ด้านหอดูดาวภูมิภาคโคราช ฉะเชิงเทรา คนแน่นขนัดเช่นกัน
สำหรับกิจกรรม “โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จัดโดยชุมชนออนใต้ มีประชาชนทยอยร่วมปักหลักรอชมฝนดาวตกเจมินิดส์ตั้งแต่หัวค่ำ
ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย ดาวตกดวงแรกปรากฏให้เห็นในเวลา 20:08 น. จากนั้นมีดาวตกปรากฏให้เห็นเป็นระยะ สดร. ร่วมจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่าง ๆ ให้ประชาชนส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ อาทิ ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี เนบิวลานายพราน กระจุกดาวคู่ เป็นต้น พร้อมบรรยายการดูดาวเบื้องต้น ด้านกิจกรรมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เนืองแน่นไปด้วยผู้คนเช่นกัน โดยเฉพาะที่ฉะเชิงเทรา เปิดพื้นที่ให้กางเต็นท์ค้างคืน มีประชาชนให้ความสนใจร่วมกางเต็นท์ชมฝนดาวตกเต็มพื้นที่หอดูดาว
ปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่หลงเหลือทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-20 ธันวาคมของทุกปี ปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 เฉลี่ยประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง