ข่าวข่าวภูมิภาค

‘อ.เจษฎ์’ แก้ข่าว ต้นตีนเป็ด มีสารพิษ ไซยาไนด์ เป็นข่าวปลอม

อ.เจษฎ์ แก้ข่าวหลังแพทย์แผนไทยเตือนว่า ต้นตีนเป็ด มีสารพิษ ไซยาไนด์ ชี้เป็นข่าวปลอม ไม่ควรแชร์ต่อ เตือนเมล็ดต้นตีนเป็ดอันตราย

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าดมดอกตีนเป็ดมากๆเสี่ยงหัวใจล้มเหลว เนื่องจากสารพิษไซยาไนด์นั้น เป็นข่าวปลอม พร้อมย้ำว่าต้นตีนเป็ดไม่ได้มีสารพิษชนิดดังกล่าว

Advertisements

เรื่องนี้เคยโพสต์เตือนกันทุกปี ในช่วงฤดูที่ต้นตีนเป็ดออกดอก และส่งกลิ่นแรง ว่าเป็นข่าวปลอมข่าวมั่วที่แชร์กันมานานแล้ว
แต่วันนี้มีรายงานข่าวในสื่อ อ้างถึงแพทย์แผนไทยท่านนึง ที่บอกว่า “ดอกที่ส่งกลิ่นแรงๆ เป็นกลิ่นของ”ไซยาไนด์” มีผลต่อระบบหัวใจโดยตรง และการหมุนเวียนของเลือดด้วย หากสูบดมนานๆ เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด บริเวณท้ายทอยจะมีอาการตึง อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้”

ซึ่งก็ต้องขอแย้งอีกครั้ง ว่าเป็นแค่ข่าวปลอม ที่แชร์กันผิดๆ ครับ รายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ของช่อง 9 อสมท. สำนักข่าวไทย ก็เคยทำรายงานตอนนี้เอาไว้เช่นกันครับ (https://youtu.be/uxkt48kFCQc) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่รายการไปสัมภาษณ์ ก็ระบุชัดเจนว่า กลิ่นของต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดนั้น ไม่ได้มีสารพิษไซยาไนด์อย่างที่ว่า เป็นเรื่องไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อครับ


เรื่องมั่ว ๆเกี่ยวกับ “ต้นพญาสัตบรรณ” หรือ “ต้นตีนเป็ด” กลับมาแชร์กันอีกแล้วครับ โดยหาว่าเป็นต้นไม้พิษ ที่กลางคืนจะปล่อยพิษ “พวกไซยาไนด์” ออกมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูออกดอก … ไม่จริงนะครับ !! มันเป็นแค่ต้นไม้ที่ดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม (อ้อ .. แล้วอย่าสับสนกับ “ต้นตีนเป็ดน้ำ” ที่ยางมีพิษด้วยนะครับ)

ต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้น ๆ (เหมือนฉัตร) มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นเมื่อกรีดจะมียางสีขาว ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็มที่ปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้น ดอกมีขาวอมเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

Advertisements

พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) คือ สารสกัดสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้ มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมายรวมทั้งใช้ใบพอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ (ไม่มีรายงานถึงพิษอันตรายต่อมนุษย์) นอกจากนี้ ยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย
#ต้นตีนเป็ดน้ำหรือต้นตีนเป็ดทะเล (รูปขวาล่าง)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ดเช่นกันกับต้นพญาสัตบรรณ มีถิ่นกำเนิดในอินเดียจนถึงทางตอนใต้ของจีน ในประเทศไทยนั้นจะพบเฉพาะทางภาคใต้ เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็ก ทรงร่ม เรือนยอดเป็นทรงกลมทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา มีช่องระบายอากาศเป็นร่องยาว มีน้ำยางสีขาวข้น มักพบขึ้นตามบริเวณริมน้ำ ตามป่าชายเลน ป่าบึงน้ำจืด และป่าชายหาด ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

ต้นตีนเป็ดน้ำมีทรงพุ่มสวยงาม ผลและดอกสวย มีกลิ่นหอม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามลานจอดรถหรือริมถนนได้ แต่ยางจากต้น ใบ ผล และเนื้อในผล มีพิษเป็นอันตราย (มีสาร Cerberoside และ Thevobioside ที่เป็นพิษต่อหัวใจ) เมล็ดมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ที่เรียกว่า “คาร์เบอริน” (Cerberin) ซึ่งมีการนำมาใช้ในการวางยาพิษ หากได้รับในปริมาณมากก็สามารถฆ่าคนได้เลย น้ำยางหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ (แต่พิษทั้งหมดนี้ ก็ไม่อยู่ถูกคายออกมาในอากาศ ให้คนสูดดมเข้าไปแล้วเป็นอันตราย แต่อย่างไร) จึงไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่นหรือบริเวณที่มีเด็กอยู่”

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button