ไลฟ์สไตล์

เปิดที่มา ‘พิธีอิ้วเก้ง’ สีสันหลักงานเทศกาลกินเจ จ.ภูเก็ต

ทำความรู้จัก พิธีอิ้วเก้ง หนึ่งในพิธีสำคัญช่วงเทศกาลกินเจของชาวภูเก็ต ประเพณีการแทงของมีคมตามร่างกายที่สืบสานกันมายาวนาน

เทศกาลกินเจ 2565 หรือ พิธีถือศีลกินผัก ของชาวจังหวัดภาคใต้ได้เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วินาทีที่เสาโกเต้งถูกยกตั้งฉากกับท้องฟ้า แต่ก็เป็นเพียงแค่ฉากเปิดเท่านั้น เพราะไฮไลต์หลักของงานอย่าง “พิธีอิ้วเก้ง” ต่างหากคือจุดเด่นของเทศกาลกินเจ ซึ่งเกิดขึ้น ณ จ.ภูเก็ต เป็นพิธีที่หลายคนรอคอย

รู้จัก ‘พิธีอิ้วเก้ง’ คืออะไร

พิธีอิ้วเก้ง คือ พิธีแห่พระรอบเมือง หนึ่งในงานประเพณีถือศีลกินผักที่จัดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพิธีกรรมหลักที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยในพิธีดังกล่าวนับว่าเป็นสัญลักษณ์การออกเยี่ยมประชาชนผู้ศรัทธาขององค์ “กิ้วอ๋องไต่เต่”

จะมีการจัดขบวนพิธีอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนธงและป้ายชื่อนำหน้า ตามด้วยขบวนเสลี่ยงเล็ก หรือที่เรียกว่า “ไฉ่เปี๋ย” จากนั้นจะต่อด้วยขบวนร่มฉัตรจีน “หนั่วสั่ว” และปิดท้ายด้วยขบวนเสลี่ยงใหญ่ “ตั่วเหลียน” ขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ โดยในระหว่างขบวนก็จะมี ม้าทรง หรือ คนทรงเจ้า ที่แทนด้วยชายหญิงผู้สมัครใจมาเข้าร่วมขบวนแห่

พิธีอิ้วเก้ง
ภาพจาก : Facebook ปชส. จังหวัดภูเก็ต

สำหรับพิธีอิ้วเก้งที่จัดขึ้นในช่วงกินเจ ปัจจุบันพบว่าการจัดขบวนแห่แบบเต็มขบวนเกิดขึ้นเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตเท่านั้น โดยจะมีการจัดขบวนแห่ทั้งหมด 8 วัน วนไปทั่วอ๊ามหรือศาลเจ้าสำคัญ ๆ ของเมืองภูเก็ต โดยในปีนี้พิธีอิ้วเก้งหรือการแห่พระรอบเมือง จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะเริ่มต้นแห่จุดแรกกันที่อ๊ามจ้อสู่ก้งนาคา (อ๊ามฮุนจง) เวลา 07.30 น.

จากนั้นก็จะเริ่มขบวนแห่รอบที่ 2 กันที่อ๊ามหลิมฮู้ไท้ซู่ (สามกอง) ตามด้วยอ๊ามท่าเรือและศาลเจ้าเจ่งอ๋อง อ๊ามบางเหนียว อ๊ามจุ๊ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง อ๊ามหล่ายทู่เต้าโบ้เก้ง และปิดท้ายศาลเจ้าสุดท้ายที่อ๊ามซุ่ยบุ่นต๋องตามลำดับ โดยจะมีการจุดประทัดตลอดทั้งขบวนแห่

พิธีแห่พระรอบเมือง กินเจภูเก็ต
ภาพจาก : Facebook ปชส. จังหวัดภูเก็ต

‘ม้าทรง’ เครื่องหมายสำคัญของ ‘พิธีอิ้วเก้ง’

จุดเด่นของขบวนแห่พระรอบเมือง หรือพิธีอิ้วเก้งของชาวภูเก็ตจะอยู่ที่ “ม้าทรง” หรือ “คนทรงเจ้า” ที่มาร่วมเดินขบวนด้วย เพราะม้าทรงจะไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เดินประกบขบวนแห่เฉย ๆ เท่านั้น แต่ยังมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการนำ “ของมีคม” มาทิ่มแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม

ของมีคมส่วนใหญ่ที่ม้าทรงใช้จะเป็นมีดและดาบ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็ทำให้มีม้าทรงบางคนใช้ของมีคมอย่างอื่นมาทิ่มแทงร่างกายให้ได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง นับว่าเป็นพิธีที่เรียกแขก หรือดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมพิธีอิ้วเก้ง ที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงเทศกาลกินเจได้ทุกปี

คนทรงเจ้า พิธีอิ้วเก้ง
ภาพจาก : Facebook ปชส. จังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้ การใช้ของมีคมเสียบแทงตามร่างกายม้าทรง เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่า ม้าทรงจะเป็นผู้ที่รับความเจ็บปวดจากทุกคนไว้เอง ถือว่าเป็นตัวแทนสะเดาะเคราะห์ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินผัก

แม้จะกระแสข่าวเกี่ยวกับม้าทรงที่ได้อาการบาดเจ็บจากการเสียบแทงอาวุธตามร่างออกมาให้เห็นอยู่ทุกปี แต่พิธีอิ้วเก้งก็ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยวไปจังหวัดภูเก็ตในช่วงเทศกาลกินเจ เพราะจังหวัดอื่น ๆ จะจัดพิธีแห่พระรอบเมืองแบบเรียบง่าย ไม่มีม้าทรง เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย

ดังนั้น หากใครที่ประสงค์จะเดินทางไปรับชม พิธีอิ้วเก้ง หรือ พิธีแห่พระรอบเมือง ณ จังหวัดภูเก็ตในปีนี้ ก็อย่าลืมใช้วิจารณญาณในการรับชมและให้ความเคารพต่อประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นกันด้วย

ม้าทรง พิธีอิ้วเก้ง
ภาพจาก : Facebook ปชส. จังหวัดภูเก็ต

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button