ข่าวข่าวการเมือง

ราชกิจจา ร่อนประกาศ หญิงท้อง 12-20 สัปดาห์ ปรึกษา ยุติครรภ์ ได้

ราชกิจจาฯ ร่อนประกาศอนุญาตให้หญิงท้อง 12-20 สัปดาห์ ปรึกษา ยุติครรภ์ ได้ มีผลบังคับใช้ 30 วันหลังประกาศหรือวันที่ 27 ตุลาคม

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องของการยุติครรภ์ สำหรับหญิงที่ตั้งท้องเกิน 12-20 สัปดาห์ เกิน 12-20 สัปดาห์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่านโยบายดังกล่าวจะมีผลในวันที่ 27 ตุลาคม

Advertisements

ในประกาศเรื่อง กม.ทำแท้ง ว่า โดยที่มาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ก่อนตัดสินใจยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตัดสินใจของหญิงนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป( (มีผลบังคับใช้ 27 ตุลาคม 2565)

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“การให้คำปรึกษาทางเลือก” หมายความว่า การให้คำปรึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์ด้วยข้อมูล ที่หลากหลาย ถูกต้อง และรอบด้านตามประกาศนี้

Advertisements

“ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วย วิชาชีพเวชกรรม

“ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น” หมายความว่า

1.ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต นักจิตวิทยา หรือนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน

2.ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการปรึกษาทางเลือกในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน หรือ

3.ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการปรึกษาทางเลือกในองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่กรมอนามัยให้การรับรอง

“หน่วยบริการปรึกษาทางเลือก” หมายความว่า สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน หรือองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่กรมอนามัยให้การรับรอง ที่มีบริการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์

“ข้อบังคับแพทยสภา” หมายความว่า ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ 3 หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ ให้แจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกเพื่อดำเนินการให้หญิงนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก

การแจ้งความประสงค์ตามวรรคหนึ่ง หญิงอาจแจ้งด้วยตนเอง เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ให้กรมอนามัยประกาศรายชื่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกตามวรรคหนึ่งให้ประชาชนทราบ

ข้อ 4 เมื่อได้รับการแจ้งความประสงค์ตามข้อ 3 ให้หน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ดำเนินการให้หญิงได้รับการตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์ของหญิงจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อบังคับ แพทยสภา

ในกรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการปรึกษาทางเลือกดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการปรึกษาทางเลือก

ในกรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากหญิงยืนยัน ที่จะยุติการตั้งครรภ์ ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา

ในกรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการปรึกษา ทางเลือกดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป แต่หากมีเหตุยุติการตั้งครรภ์อื่นตามมาตรา 305 (1) (2) หรือ (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ดำเนินการตามข้อบังคับแพทยสภา

ข้อ 5 ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เมื่อได้ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่ หญิงตั้งครรภ์ตามที่กรมอนามัยกำหนดและขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัยแล้ว ให้เป็นผู้ให้คำปรึกษา ทางเลือกตามประกาศนี้

ข้อ 6 การให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกคำนึงถึงหลักการ ดังต่อไปนี้

การรับฟังปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร

การไม่ตีตราหรือตัดสินเกี่ยวกับการกระทำ การให้ถ้อยคำ การแสดงทัศนคติ หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของหญิงตั้งครรภ์

การให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์แบบ องค์รวม ได้แก่ ความเสี่ยง ความปลอดภัย ข้อห้ามทางการแพทย์ รวมถึงข้อมูลอื่น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก อย่างรอบคอบ ทั้งด้านการตั้งครรภ์ต่อและการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและวางแผนชีวิต ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและเงื่อนไขชีวิตของหญิง สามารถปฏิบัติได้จริงตามศักยภาพของตนเอง และรับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจได้ การให้อิสระ ไม่โน้มน้าว และไม่บีบบังคับให้หญิงตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง

การรักษาความลับในการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์

ข้อ 7 การให้คำปรึกษาทางเลือกให้ดำเนินการโดยเร็วและคำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิง ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหากต้องมีการยุติการตั้งครรภ์

ข้อ 8 เมื่อหญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ได้รับคำปรึกษา ทางเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกออกเอกสารตามแบบที่กรมอนามัยกำหนดแก่หญิง เพื่อแสดงว่าได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามประกาศนี้แล้ว โดยอาจทำในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ดังต่อไปนี้

หากหญิงนั้นยืนยันที่จะตั้งครรภ์ต่อ ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกดำเนินการให้หญิงได้รับ การดูแลช่วยเหลือ หรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมแก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป

หากหญิงนั้นยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกดำเนินการให้หญิง ได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา หากหญิงนั้นประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำแนวทางการดูแลช่วยเหลือ หรือการจัดสวัสดิการสังคม ที่เหมาะสมแก่หญิงที่จะดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ดังกล่าวด้วย

ข้อ 9 ในระหว่างการดำเนินการตรวจหรือให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีข้อบ่งชี้หรือกรณีเป็นไปตามมาตรา 305 (1) (2) (3) และ (๔) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกอาจให้คำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์เพื่อดำเนินการยุติการตั้งครรภ์หรือดำเนินการอื่นใดให้เป็นไปตามที่กฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องกำหนด

ข้อ 10 ในระยะเริ่มแรก ให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา ทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์อยู่ก่อนแล้ว ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกตามประกาศนี้ได้ โดยยังไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมตามข้อ 5 แต่ต้องไม่เกิน 365 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท.) ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จากรายงานสถานการณ์

และสถิติการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย พบว่ามีการยุติการตั้งครรภ์ประมาณปีละ 300,000 คน และผู้หญิงประมาณ 300 คน ต่อ 100,000 คน ได้รับอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ ในปี พ.ศ. 2552 ประมาณการณ์ว่า มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ จำนวน 123.3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความสูญเสียทางจิตใจ

 

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button