รู้จัก “นกชนหิน” สัตว์ใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์ เจ้าของฉายา “งาสีเลือด” หลัง ครม. เคาะให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย
เดอะไทยเกอร์ชวนรู้จัก นกชนหิน คือสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวาน (6 ก.ย.) ได้มีมติให้ “นกชนหิน” ถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย เนื่องจากความสวยงามของโหนกที่เหมือนงาช้างสีเลือด ทำให้นกชนหินถูกหมายปองจากองค์ลักลอบสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ส่งผลให้เป็นนกสายพันธ์ุที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีนกชนหินในธรรมชาติไม่ถึง 100 ตัวเท่านั้น
ประวัติ นกชนหิน นกเงือกเสี่ยงสูญพันธุ์ในไทย
นกชนหิน (Helmeted hornbill) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhinoplax vigil ทั้งนี้ยังนับว่านกชนหินมีบรรพบุรุษเมื่อ 45 ล้านปีเป็นนกเงือกสายพันธุ์โบราณในวงศ์สกุล Rhinoplax อีกด้วย
นกชนหิน เป็นนกที่มีขนาดใหญ่สุดในวงศ์นกเงือก และเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดของนกในวงศ์นกเงือกที่พบได้ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นนกชนหินได้ในประเทศมาเลเซีย บริเวณเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
ลักษณะของนกชนหินจะมีโหนกบนหัวขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 11 ของน้ำหนักตัว เพื่อเอาไว้ใช้ต่อสู้กับเพศผู้ตัวอื่น ซึ่งแตกต่างจากโหนกของนกเงือกชนิดอื่นตรงที่โหนกของนกชนหินจะมีลักษณะตันทั้งชิ้น
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อจากชาวปูนันอีกด้วยว่า นกชนหินเป็นผู้พิทักษ์แม่น้ำที่เป็นพรมแดนกั้นระหว่างความเป็นและความตาย
นกชนหินเป็นสัตว์ที่อยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ ทำให้มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาณาเขตจากนกชนหินตัวอื่นด้วยการใช้ส่วนหัว หรือโหนกในการชนกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ได้รับการตั้งชื่อว่า “นกชนหิน”
ลักษณะนิสัยของนกชนหิน
นกชนหิน มีโหนกบริเวณสันบนปากขนาดใหญ่กว่านกเงือกพันธุ์อื่น ๆ และภายในโหนกจะมีสีขาวคล้ายกับงาช้าง
อีกหนึ่งความพิเศษของนกชนหิน คือจะงอยปากนกชนหินจะมีความยาว และขนหางที่มีงอกยาวเลยเส้นขนไปได้ถึง 50 ซม. เลยทีเดียว
นกชนหินเพศผู้จะมีขนาดลำตัวที่ยาวกว่าเพศเมีย สามารถวัดจากจะงอยปากจนถึงขนหางได้ยาวสุดถึง 127 ซม. ซึ่งสามารถแยกเพศของนกชนหินได้จากบริเวณลำคอที่ไม่มีขน โดยนกตัวผู้จะมีคอสีแดงคล้ำ ส่วนนกชนหินตัวเมียจะมีสีฟ้า
ทั้งนี้นกชนหินวัยละอ่อนเพศผู้จะมีลำคอสีแดงระเรื่อ ส่วนเพศเมียก็จะมีลำคอสีม่วง จุดสังเกตให้ดูที่ปลายของขนหางซึ่งจะมีขนาดสั้นกว่าปกติ
เสียงร้องของนกชนหินจะแตกต่างจากนกชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยนกชนหินเพศผู้จะร้องเป็นเสียง “ตู๊ก…ตู๊ก” ทอดยาวเป็นจังหวะ และจะส่งเสียงร้องคล้ายการหัวเราะอีกรอบหนึ่ง ส่วนเสียงร้องเวลาตกใจของนกชนหินก็มีลักษณะเนื้อเสียงคล้ายกับเสียงแตรเลยทีเดียว
ถิ่นที่อยู่อาศัยและการหากิน
นกชนหิน เป็นพันธุ์นกประจำถิ่นที่พบได้ในเขตป่าดิบชื้นระดับต่ำ ซึ่งพบได้มากในแถบเทือกเขาตะนาวศรีลงมาจนสุดทางใต้ รวมถึงแถบประเทศมาเลเซีย บริเวณเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
นกชนหินจะออกหากินในระดับยอดไม้ ปกติแล้วนกชนหินจะกินผลไม้เป็นอาหาร เช่น ลูกไทร แต่บางครั้งก็สามารถกินเนื้อสัตว์ได้ เช่น กิ้งก่า กระรอก และนก
นกชนหินจะนิยมทำรังบนต้นไม้สูง โดยส่วนมากจะอยู่เป็นคู่หรือไม่ก็ตัวเดียว และการทำรังของนกชนหินจะแตกต่างจากนกเงือกพันธุ์อื่นตรงที่ทางเข้ารังจะอยู่ด้านบน เนื่องด้วยขนาดของหัวและหางที่ยาวเป็นพิเศษ
นอกจากนี้นกชนหินยังใช้เวลาเลี้ยงลูกนกถึง 5 เดือน โดยแม่นกชนหินจะอยู่ในรังกับลูกตลอดเวลา ไม่โผล่ออกมาสักครั้งหนึ่ง
นกชนหินในประเทศไทย
สำหรับสถานะของนกชนหินในไทย ถูกจัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 410 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2546
ในปัจจุบันพบว่านกชนหินในไทยเหลืออยู่ตามแหล่งธรรมชาติน้อยมาก คาดการณ์ว่ามีไม่ถึง 100 ตัว และยังมีปัจจัยคุกคามที่สูงอีกด้วย สืบเนื่องมาจากลักษณะโหนกของนกชนหินมีความสวยงามคล้ายกับงาช้าง จึงเป็นที่ถูกเรียกกันว่า งาสีเลือด ต่างก็เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่าเป็นอย่างยิ่ง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีผู้พบเห็นองค์กรลักลอบค้าสัตว์ป่านำชิ้นส่วนโหนกของนกชนหินมาขายในราคา 5,000 – 6,000 บาท ซึ่งจะสูงขึ้นอีกเมื่อนำออกไปขายนอกประเทศ รวมถึงโหนกของนกชนยังถูกนำไปทำเป็นงานศิลปะ และเครื่องประดับต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนโหนกที่ถูกนำไปแกะสลักเป็นเครื่องประดับ หรือขนหางที่ถูกนำมาแต่งเสื้อคลุมก็ตามที
ทำให้ ครม. มีมติเห็นชอบเรื่องการขึ้นสถานะให้นกชนหินเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 20 ของไทยต่อจากฉลามวาฬ เพราะปัจจุบันนกชนหินเสี่ยงสูญพันธุ์เต็มทีแล้ว จึงต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองให้สัตว์ป่า นกชนหินไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในประเทศไทย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับนกชนหิน สัตว์สงวนเสี่ยงสูญพันธุ์ของไทยที่ทีมงานเดอะไทยเกอร์ได้นำมาฝากผู้อ่านทุกท่าน ในครั้งหน้าจะเป็นเรื่องราวของสัตว์ชนิดใดก็อย่าลืมติดตามกันนะครับ.