ทนายตั้ม ลุยต่อ เตรียมเพิ่ม ข้อหาหลานรัฐมนตรี อีก 3 ข้อหา
ทนายตั้ม เดินหน้าลุยต่อ เตรียมเพิ่ม ข้อหาหลานรัฐมนตรี อีก 3 ข้อหา หลังดาราสาวเผยว่าถูกผู้ต้องหาแบล็คเมล์ด้วย
ทนายตั้ม หรือ ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก เผยว่าตนเตรียมเพิ่มข้อหาหลานรัฐมนตรี หรือ อภิดิศร์ อินทุลักษณ์ อีก 3 ข้อหา โดยทนายตั้มระบุว่าผู้ต้องหาได้ทำการลบข้อความจากมือถือดาราสาว มีการยกเลิกข้อความ และผู้เสียหายออกมาบอกว่าตนถูกแบล็คเมล์
ทนายตั้มระบุว่าด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ตนเตรียมเพิ่มข้อหาหลานรัฐมนตรีอีก 3 ข้อหา ได้แก่ “ข้อหาที่ 1. “ทำพยานหลักฐานเท็จเพื่อให้เกิดคดีอาญา” การที่ผู้ต้องหาลบข้อความบางส่วนออกไปจากโทรศัพท์ของผู้เสียหายหรือลบข้อความบางส่วนออกไปจากโทรศัพท์ของผู้ต้องหาเองนั้น เพื่อเจตนาจะให้ข้อความทั้งหมดเมื่ออ่านแล้วมีลักษณะที่ทำให้เห็นว่า ผู้เสียหายจงใจ “แบล็คเมล์ (Blackmail)” ซึ่งมีความหมายตรงกับกฎหมายในเรื่องของ “การรีดเอาทรัพย์” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 หมายความว่า ต้องการให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องการผลประโยชน์โดยการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ ดังนั้น การลบข้อความที่มีเจตนาในลักษณะแบบนี้ จึงเข้าข่ายทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้เชื่อว่ามีความผิดฐานรีดเอาทรัพย์เกิดขึ้น ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เข้าข่ายเป็นความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อหาที่ 2. “ทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสาร” การใช้งานโทรศัพท์เพื่ออ่านตัวอักษรหรือพิมพ์หรือลบตัวอักษรหรือข้อความนั้น การใช้งานในส่วนนี้ถือว่าเป็นการใช้งานโทรศัพท์อย่างเป็น “เอกสาร” เพราะเอกสาร คือ กระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่ทำให้ปรากฏตัวอักษร ตัวเลข ฯ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ในขณะที่พิมพ์ตัวอักษรหรือข้อความหรือถ้อยคำนั้น ถือว่าเป็นการใช้งานคอมพิวเตอร์ในลักษณะเป็นวัตถุที่ทำให้ปรากฏตัวอักษร จึงถือว่า เครื่องคอมพิวเตอร์และข้อความหรือถ้อยคำที่พิมพ์นั้นเป็นเอกสารทั้งหมด (เทียบ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4311/2557)
ดังนั้น เมื่อผู้ต้องหาแอบใช้งานโทรศัพท์ของผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายสลบหรือไม่ได้สติเพื่อทำการลบข้อความหรือตัวอักษรที่อยู่ในโทรศัพท์ จึงเป็นการใช้งานโทรศัพท์อย่างเป็นเอกสาร ฉะนั้น เมื่อมีการลบข้อความหรือถ้อยคำหรือตัวอักษรออกไป จึงเป็นการกระทำให้เอกสารเสียหายหรือไร้ประโยชน์ และข้อความหรือถ้อยคำหรือตัวอักษรที่ออกไปนั้น เป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพยานหลักฐานในคดีความได้ จึงถือว่าการลบข้อความออกจากโทรศัพท์เป็นการทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสาร ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายได้ อันเป็นความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ข้อหาที่ 3. “ปลอมเอกสาร” การแก้ไข้หรือลบข้อความในเอกสารที่อยู่ในโทรศัพท์ของผู้เสียหาย ยังเข้าข่ายกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วน โดยการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง ในประการที่มีเจตนาทำให้ผู้เสียหายเชื่อหรือเข้าใจว่าไม่เคยมีข้อความดังกล่าวอยู่มาก่อนเลย ทำให้ผู้เสียหายเชื่อว่าไม่มีข้อความที่ถูกลบออกไปอยู่ในโทรศัพท์ของผู้เสียหาย เข้าข่ายเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นในวันนี้ผมจึงให้ทนายในสำนักงาน Sittra Law Firm พร้อมน้องผู้เสียหาย ไปแจ้งความดำเนินคดีผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 3 ข้อหาหนักครับ”