รู้จักประเพณี บุญข้าวสาก 2565 งานบุญวันสารทไทยของชาวอีสาน ความเชื่อเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณของงานสารทเดือนสิบ พิธีสำหรับทำบุญไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ
บุญข้าวสาก หรือ บุญข้าวสลาก เป็นประเพณีบุญสารทเดือนสิบ (เดือนกันยายน) ตามปฏิทินลาว ที่สำคัญต่อลูกหลานชาวไทยอีสานอย่างมาก โดยในปีนี้จะจัดงานตรงกับ วันที่ 10 กันยายน 2565 เป็นงานบุญที่ชาวอีสานจะถวายไทยทานอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญูต่อปู่ย่าตายายที่ก่อสร้างตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้
ประวัติ บุญข้าวสาก 2565 ประเพณีสารทของชาวไทยอีสาน
บุญข้าวสาก หรือ บุญข้าวสลาก เป็นงานบุญวันสารทไทยที่จัดขึ้นทางภาคอีสาน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนไทยภาคอีสานและชาวลาว สำหรับงานบุญสากนั้นจะมีขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หรือเดือนกันยายนตามปฏิทินจันทรคติ โดยในปีนี้งานบุญข้าวสากจะตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2565
ทั้งนี้คำว่า “บุญข้าวสาก” มีที่มาจากทั้งคำว่า “บุญข้าวสลาก” และ “บุญข้าวกระยาสารท” โดยในคำว่า บุญข้าวสลาก นั้นมาจากช่วงเวลาที่ถวายไทยทานจะต้องทำสลากเขียนชื่อผู้ทำทานและชื่อคนที่เจ้าของทานจะอุทิศบุญให้ อาจเป็นคนรู้จัก ญาติพี่น้อง หรือบรรพบุรุษ โดยไม่มีการระบุว่าสามารถใส่ชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้กี่คน
ส่วนคำว่า บุญข้าวกระยาสารท จะจัดเตรียมอาหารสำหรับทำบุญก่อนจะถึงวันงานบุญข้าวสาก โดยจะมีอาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ตามปกติ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมาคือของหวานพิเศษที่ทำจากข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอก นำมาคลุกน้ำตาล ถั่วงา และมะพร้าว เรียกว่า กระยาสารท นั่นเอง
ตำนานและความเชื่อเรื่องบุญข้าวสากที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล
สำหรับความเชื่อที่ทำให้บุญข้าวสากถือกำเนิดขึ้นมานั้น มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในธรรมบท เล่าถึงชายคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีฐานะ เขามีภรรยา 2 คน เนื่องจากภรรยาคนแรกไม่สามารถมีบุตรให้ได้ ทำให้แม่ของชายคนนี้ต้องหาภรรยาอีกคนมาให้
และเมื่อภรรยาคนที่ 2 มีลูกกับชายคนนี้ ทางภรรยาคนแรกก็คิดอิจฉาจึงฆ่าภรรยาคนที่ 2 กับลูกทิ้งไป ทำให้เกิดการอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน ทำให้เกิดมากี่ภพกี่ชาติทั้ง 2 คนก็จะเข่นฆ่ากันอยู่เป็นประจำ
พอมาถึงชาติสุดท้าย ภรรยาคนหนึ่งได้เกิดเป็นมนุษย์ ส่วนอีกคนได้เกิดเป็นยักษ์ คนที่เกิดเป็นมนุษย์มีลูก 2 คน แต่ถูกยักษ์จับกินหมด ทำให้ต้องหนีไปพึ่งบุญบารมีของพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร ซึ่งพระพุทธก็ได้เทศนาสั่งสอนให้ทั้งคู่เลิกจองเวรกันได้สำเร็จ
ทั้งนี้ พระพุทธเจ้าก็ให้ภรรยาคนที่เกิดเป็นยักษ์ไปเฝ้าไร่เฝ้านา เนื่องจากมีความรู้เรื่องเกษตรกรรม ทำให้พืชผลของชาวบ้านนั้นบริบูรณ์ ชาวบ้านนับถือนางยักษ์มากจึงส่งอาหารมาให้ไม่ขาด ส่วนนางยักษ์ก็นำอาหารเหล่านั้นไปถวายแด่พระสงฆ์ด้วยวิธีการจับสลาก หรือที่เรียกว่า สลากภัต
ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็นประเพณีการถวายสลากภัตสืบต่อกันมาเรื่อย ๆ และกลายเป็นบุญข้าวสากของชาวอีสานในปัจจุบัน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับนางยักษ์ที่พระพุทธเจ้าให้ไปเฝ้านานั้นก็กลายมาเป็นความเชื่อเรื่อง ผีตาแฮก หรือผีเฝ้านาของชาวอีสานในปัจจุบันเช่นกัน
พิธีทำบุญข้าวสาก งานบุญแสดงความกตัญญูของลูกหลานชาวไทยอีสาน
สำหรับพิธีการทำบุญข้าวสากที่จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 นั้น ชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระภิกษุและสามเณรในตอนเช้า โดยเป็นการถวายแบบสลากภัต หรือให้พระและเณรจับสลากกันเองว่าใครจะได้อาหารของผู้ทำบุญท่านไหน
นอกจากการถวายสลากภัตแล้ว ในสำรับกับข้าวของผู้มาทำบุญก็ยังมีสลากที่เขียนชื่อผู้ทำบุญและผู้ที่ต้องการอุทิศบุญให้ไว้อีกด้วย โดยเมื่อถวายเสร็จก็รับพรพระตามปกติ และกรวดน้ำอุทิศบุญให้กับผู้ล่วงลับ
หลังจากเสร็จพิธีกรรมบุญข้าวสากแล้ว ชาวบ้านจะนำห่อข้าวสากไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ภายในวัด ก่อนจะจุดเทียนเพื่ออัญเชิญให้บรรพบุรุษมากินข้าว พร้อมกันนี้ชาวบ้านก็ยังนำข้าวสากไปวางตามที่นาของตนเพื่อเรียกให้ผีตาแฮก (ผีเฝ้านา) มากินด้วย เป็นการขอบคุณที่ผีตาแฮกช่วยทำให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์
สำหรับรายละเอียดของบุญข้าวสากในปี 2565 นั้น อาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสานของประเทศไทย แต่วัตถุประสงค์โดยรวมของการทำบุญข้าวสากนั้นก็เพื่อตอบแทนและแสดงความกตัญญูต่อผีบรรพบุรุษ (คล้ายกับสารทจีน)
บุญข้าวสากนั้นนับว่าเป็นประเพณีการทำบุญของชาวอีสานที่สำคัญมาก ๆ เพราะใน 1 ปี จะมีเพียงแค่เดือน 10 เดือนเดียวเท่านั้น ที่จะจัดงานบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ดังนั้นในวันสารทเดือนสิบ ลูกหลานชาวอีสานก็อย่าลืมกลับไปทำบุญข้าวสาก เพื่อการตอบแทนต่อบรรพรุษของตระกูลเรากันด้วย.