‘หมอดื้อ’ เตือน งีบทำสมองเสื่อม ฟังแล้วถึงกับสะดุ้งตื่น
ฟังแล้วถึงกับสะดุ้งตื่น หลัง หมอธีระวัฒน์ เตือนว่าประชาชนชอบ งีบทำสมองเสื่อม พร้อมกางผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเตือนประชาชนที่ชอบงีบทำสมองเสื่อม หรือ โรคอัลไซเมอร์
หมอดื่อได้กล่าวถึงประเด็นการนอนงีบทำสมองเสื่อมนี้ว่า “ตอนนี้เรากลับมาที่เรื่อง งีบหลับกลางวัน (daytime napping) และพฤติกรรมการนอน โดยไม่ได้ใช้การตรวจสมองจากศพแล้ว แต่เป็นการวิเคราะห์ ยีนส์ รหัสพันธุกรรม แทน
คณะทำงาน ประกอบไปด้วยกลุ่มจาก Massachusetts General Hospital และ University Murcia ที่ สเปน และอีกหลายสถาบัน และรายงานในวารสาร Nature communications ต้นปี 2021 ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ค้นพบมาก่อนหน้านี้ ถึงยีนที่สัมพันธ์กับ ระยะเวลาของการนอน รูปแบบการนอนผิดปกติ และแนวโน้มที่จะตื่นแต่มืด หรือเป็นแบบมนุษย์นกฮูก คือนอนเกือบเช้า ตื่นเอาบ่ายหรือเย็น
โดยทำการวิเคราะห์ ศึกษาหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของทั้งจีโนม ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือนิสัยการนอน GWAS genome-wide association study ทั้งนี้ โดยอาศัยข้อมูลของรหัสพันธุกรรมมนุษย์ที่เก็บในคลัง UK biobank เป็นจำนวน 452,633 คน และจำแนกออกเป็นกลุ่มที่ไม่เคยงีบหลับ หรือ งีบน้อยมากตอนกลางวัน งีบบ้างบางเวลา หรืองีบเป็นประจำ
GWAS ได้ระบุ 123 regions ในจีโนมมนุษย์ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการงีบหลับระหว่างวัน และเพื่อให้ข้อมูลมีความละเอียดชัดเจนขึ้น กลุ่มอาสาสมัครจำนวนหนึ่งยังติดเครื่องมอนิเตอร์ accelerometer ที่สะท้อนพฤติกรรมที่ทำในเวลากลางวันรวมถึงการงีบหลับ
ข้อมูลของจีโนมของคณะนี้ที่พบ ยังพ้องไปกับข้อมูลการวิเคราะห์ในจำนวน 541,333 รายที่รวบรวมจาก 23andME (บริษัทรับตรวจยีนส์)
ผลการศึกษาได้ข้อสังเกตว่า พฤติกรรม การงีบกลางวัน เป็นลักษณะของบุคคลหรือเป็นการทดแทนการนอนไม่ดีตอนกลางคืนหรือการที่ต้องตื่นเช้าเกินไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เผินๆแล้ว ดูไม่น่าสนใจแต่เมื่อนำมาผนวกกับดัชนีสุขภาพทางด้านหัวใจและเมตตาบอลิค (cardiometabolic) พบว่าเริ่มมีความเกี่ยวพันกันกับ อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น และจีโนมในบางตำแหน่งที่สัมพันธ์กับการงีบหลับกลางวันมีความเชื่อมโยงกับ orexin
ทั้งหลายทั้งปวงที่ปูพื้นมา แสดงให้เห็นว่าการนอนและการหลับตื่นที่แปรปรวนผิดปกตินั้น แท้จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ร่วมในโรคสมองเสื่อม ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละชนิด แต่ชัดเจนในสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ และเป็นความผิดปกติของกลุ่มเซลล์ประสาทที่กระตุ้นให้ตื่น โดยโปรตีนพิษ ทาว เป็นตัวก่อเหตุ
นอกจากนั้น รหัสพันธุกรรมที่ได้จากการศึกษาจีโนมมนุษย์ยังมีส่วนกำหนดพฤติกรรมของการนอนน้อย นอนนาน ชอบงีบหลับกลางวัน และเกี่ยวโยงไปถึงสุขภาพของร่างกายที่เกี่ยวกับหัวใจและเส้นเลือด ตรงกับที่เราทราบมานานพอสมควรแล้วว่าสุขภาพร่างกาย หัวใจหลอดเลือด ความดัน ไขมัน น้ำหนัก จะสัมพันธ์โดยตรงกับการสะสมของโปรตีนพิษใน สมองอัลไซเมอร์ โดยผ่านกระบวนการอักเสบ เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น มาขมวดถึงการศึกษาในต้นปี 2022 นี้เอง ในวารสาร Alzheimer’s Dement จากคณะทำงานในสหรัฐหลายสถาบัน UC San Francisco และ Harvard Medical School โดยวางสมมุติฐานต่อเนื่องจากความรู้ที่ผ่านมา โดยผลการศึกษา สามารถสรุปได้ว่า การงีบหลับกลางวันจะมากและบ่อยขึ้น แปรตามโรคและพยาธิสภาพของอัลไซเมอร์ และที่น่าประหลาดใจ (แกมตกใจ) ก็คือ ข้อมูลที่เป็นไปได้ว่า การงีบหลับกลางวันบ่อย นาน จะเร่งโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ แม้ว่าจะได้ปรับผลกระทบที่เกิดจากการที่นอนตอนกลางคืนไม่ดี หรือ ไม่มีคุณภาพแล้ว โดยสามารถสรุปได้ว่าการนอนกลางวันส่งผลสุ่มเสี่ยงให้เกิดโรคมากขึ้น
โครงการนี้ เริ่มในปี 2005 โดยมีอาสาสมัครทั้งหมด 1401 คนเป็นผู้หญิง 1065 คนเกณฑ์อายุเฉลี่ยที่ 81.4 ปีและมีการติดตามทุกปี โดยมีการประเมินสมรรถภาพสมอง หรือ ต้นทุนสมองด้วยการตรวจทางพุทธิปัญญา โรคร่วมที่มี เป็นต้น การศึกษาจบลงเมื่อสิ้นสุดเดือนเมษายน 2020
การสรุปความแปรปรวนความผิดปกติทางสมองโดยใช้แบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ตั้งแต่ระดับ ก้ำกึ่ง (MCI mild cognitive impairment) หรือน้อย (mild) และระดับปานกลาง (moderate) จนถึง รุนแรง (severe) ตามลำดับ
สุขภาพและพฤติกรรมของการนอน วิเคราะห์ ในตอนกลางคืน ความผันแปรที่เกิดขึ้น ทั้งระยะเวลาทั้งหมดของการนอน จำนวนที่การนอนขาดช่วงเป็นระยะ และการตื่นหลังจากที่เริ่มมีการนอน ความผันผวนในระหว่างวันเดียวกัน และต่างวันกัน
เมื่อเริ่มต้นโครงการ 75.7% ของอาสาสมัครไม่มีความผิดปกติทางสมองเสื่อม และ 19.5% อยู่ในระดับก้ำกึ่ง(MCI) และ 4.1 % เป็นสมองเสื่อม
ในคนที่ปกติตั้งแต่เริ่มต้น การงีบหลับกลางวัน จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11 นาที ต่อปี แต่แล้ว เมื่อพบว่าพัฒนาเป็นระดับ MCI การงีบหลับจะเพิ่มขึ้นสองเท่ากลายเป็น 24 นาที ต่อวัน และนานมากขึ้นเป็น 69 นาทีต่อวัน เมื่อถึงระดับสมองเสื่อมแล้ว
ในขณะเดียวกันได้ทำการวิเคราะห์อาสาสมัคร 24% ที่ปกติในตอนเริ่มต้น แต่พัฒนาเป็น อัลไซเมอร์ ในหกปีต่อมา พบว่าคนที่งีบหลับมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นโรคสมองเสื่อมถึง 40% เมื่อเทียบกับคนที่งีบน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และคนที่งีบมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวันจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่งีบ น้อยกว่า หนึ่งครั้งถึง 40%
ผลการศึกษานี้ ยืนยันการศึกษาในปี 2019 ที่พบว่าผู้ชายสูงอายุที่งีบหลับกลางวัน 2 ชั่วโมงจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีสติปัญญาเสื่อมถอยมากกว่าคนที่งีบน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน
ผลที่ได้จากการศึกษานี้ เป็น bidirectional คือส่งผลได้ทั้งสองทิศทาง สมองเสื่อมมากงีบหลับมาก และงีบหลับกลางวันมากเร่งให้สมองเสื่อมมาก
แต่กระนั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีกลไกอะไร ที่การงีบนอนหลับกลางวัน บ่อยไป นานไป มากไปกลับเร่งสมองเสื่อม
จากนั้นนำ ไปถึง การตั้งคำถามต่อว่า ในประเทศที่มีประเพณีการงีบหลับ กลางวันตอนบ่าย จะเกิดผลกระทบมากน้อยเท่าใด จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งในประเทศสเปนเริ่มมีการพิเคราะห์เรื่องนี้แล้ว
และขณะเดียวกัน การงีบกลางวันเพื่อที่จะชดเชยการนอนกลางคืนที่ไม่พอหรือที่คุณภาพไม่ดี ควรจะนอนเป็นเวลานานเท่าใด ที่จะเหมาะสม และแน่นอน ต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพของร่างกายด้าน คาร์ดิโอเมตตาบอลิค (cardiometabolic) ทั้งนี้ จะมีการควบรวมกับยีน หรือจีโนมของแต่ละคนหรือไม่ว่า นอนอย่างไรนานเท่าไร นอนกลางวันหรือกลางคืน ที่สมองจะยังดีอยู่ หรือไม่เสื่อม
อ่านถึงตรงนี้ คงได้ข้อสรุปคล้าย ๆ กัน กับตัวหมอดื้อว่า เมื่อไหร่ง่วงก็นอน นอนไม่หลับ ก็ทำนู่นทำนี่ไป สำหรับหมอเองอีกไม่นานก็นอนยาวแล้วไว้ถึงตอนนั้นค่อยนอนดีกว่า”
- ‘หมอธีระวัฒน์’ กางงานวิจัย มีเซ็กส์ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้
- ‘หมอธีระวัฒน์’ แนะ ติดโควิดทำยังไง หลังแนวโน้มผู้ป่วยมากขึ้น