กทม. ป้องกัน ฝีดาษลิง เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ
กทม. เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ ฝีดาษลิง เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติ เฝ้าระวัง ควบคุมโรค ชี้มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษวานรได้
วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ออกมาให้ข้อมูลการเตรียมแผนเผขิญเหตุและป้องกัน โรคฝีดาษลิง ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก
เนื้อหาจากโพสต์ของเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ระบุ เวลานี้โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจะเร่งแยกกักตัวเฉพาะโรค
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคแก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตามมาตรการ Universal Prevention (UP) คือ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงลมหายใจและสิ่งของของผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
- ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด
- หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่นทันที
โรคฝีดาษลิงจะมีอาการคล้ายโรคฝีดาษ ดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย
- หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา
- อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
- กรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต
ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้สังเกตอาการตนเอง โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่าย มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษวานรได้