ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

รู้จัก ‘เมอร์คัลลี’ มาตราวัดระดับแผ่นดินไหว ระดับสากล

แผ่นดินไหวมีกี่ระดับ? The Thaiger ขอพาไปทำความรู้จักกับ “มาตราเมอร์คัลลี” หรือ Mercalli Scale มาตราที่ใช้วัดระดับความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่หลายคนอาจจำสับสนกับมาตราวัดขนาดของแผ่นดินไหวอย่าง “ริกเตอร์” หรือ Richter ทั้ง 2 มาตราวัดแตกต่างกันอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด เมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น ด้านกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พบเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่ 2 ครั้ง ขนาด 5.1 และ 6.4 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ในรัฐฉาน เมืองเชียงตุง

Advertisements

แผ่นดินไหวเชียงใหม่
ภาพจาก : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

จากการรายงานของทางกรมอุตุนิยมวิทยา และจากสำนักข่าวไทยหลาย ๆ สำนัก อาจทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าทำไมการรายงานเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ถึงไม่มีการใช้หน่วยวัด “ริกเตอร์” ต่อท้ายตัวเลขแผ่นดินไหวอย่างที่เคยใช้กันในอดีต แต่กลับเป็นการบอกตัวเลขขนาดแผ่นดินไหวโดด ๆ โดยไม่มีหน่วยต่อท้าย

วันนี้ทาง The Thaiger จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “มาตราวัดระดับแผ่นดินไหว” และแก้ไขความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่ว่า “คนไทยใช้หน่วยวัดแผ่นดินไหวผิดมาโดยตลอด” เพราะน้อยคนที่จะรู้ว่าการวัดขนาดแผ่นดินไหวไม่ได้มีแค่ “มาตราริกเตอร์” เพียงอย่างเดียว

แผ่นดินไหวมีกี่ระดับ

แผ่นดินไหวมีกี่ระดับ ทำความเข้าใจกับ ‘มาตราวัดระดับแผ่นดินไหว’ ที่ถูกใช้กันในระดับสากล

Advertisements

แผ่นดินไหว เป็นการสั่นสะเทือนของแผ่นดินที่เกิดจากการขยับเขยื่อนของเปลือกโลก สามารถวัดระดับได้ 2 แบบ คือ การวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Intensity) และ การวัดขนาดของแผ่นดินไหว (Magnitude) ซึ่งการวัดค่าแผ่นดินไหวทั้งสองแบบนั้นจะใช้การคำนวณที่ต่างกัน

การวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Intensity)

สำหรับการวัดค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวจะวัดจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ ผิวโลก โดยมาตราวัดที่นิยมใช้คือมาตราความรุนแรงเมอร์คัลลี (Mercalli Intensity Scale ซึ่งภายหลังถูกปรับปรุงเป็น The Modified Mercalli Scale) ที่ถูกเสนอโดย Guiseppe Mercalli นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียน ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ

การใช้มาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวแบบเมอร์คัลลีนั้น จะกำหนดได้จากการตอบสนองของผู้คนในพื้นที่เกิดแผ่นดินไหว การสั่นไหวของเครื่องเรือน หรือความเสียหายที่เกิดกับอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ โดยจะมีระดับความรุนแรงทั้งหมด 12 ระดับ และใช้หน่วนระดับเป็นตัวเลขโรมัน I-XII

แผ่นดินไหวมีกี่ระดับ

ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวทั้ง 12 ระดับ

มาตราเมอร์คัลลีที่คนส่วนใหญ่นิยิมใช้มากที่สุดคือเวอร์ชันฉบับปรับปรุงแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 1931 โดยนักวิชาการแผ่นดินชาวอมเริกัน 2 คน คือ Harry Wood และ Frank Neumann ซึ่งค่าความรุนแรงแต่ละระดับส่งผลให้เกิดความเสียหายดังนี้

– ระดับ I มีความรุนแรงน้อยมาก มนุษย์สัมผัสไม่ได้ ตรวจวัดได้โดยเครื่องตรวจแผ่นดินไหวเท่านั้น

– ระดับ II (อ่อน) คนที่มีความรู้สึกไวหรือคนที่อยู่นิ่งจะสัมผัสถึงการสั่นไหวได้ เครื่องเรือนบางชิ้นที่มีลักษณะบอบบางอาจ

– ระดับ III (เบา) คนที่อยู่ในอาคารอาจสัมผัสได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในตึกสูง เป็นการสั่นสะเทือนคล้ายกับกรณีที่รถบรรทุกวิ่งผ่าน

– ระดับ IV (พอประมาณ) ถ้าเกิดในเวลากลางวันน้อยคนที่จะสัมผัสได้ ถ้าเป็นเกิดในเวลากลางคืนคนที่นอนหลับอยู่อาจรู้สึกถึงแรงสะเทือนและตกใจตื่นได้ เครื่องเรือน รวมถึงรถยนต์ที่จอดอยู่จะมีการสั่นไหวอย่างเห็นได้ชัด

– ระดับ V (ค่อนข้างแรง) เครื่องเรือนรวมถึงบางส่วนของอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ผู้คนส่วนใหญ่สามารถรับรู้ถึงแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวได้

แผ่นดินไหว

– ระดับ VI (แรง) สามารถรับรู้การเกิดแผ่นดินไหวได้ทุกคน เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นที่มีน้ำหนักมาอาจเกิดการเคลื่อนที่ แต่ตัวอาคารยังไม่ได้รับความเสียหาย

– ระดับ VII (แรงมาก) สำหรับอาคารที่มีการออกแบบมาเพื่อรองรับกรณีการเกิดแผ่นดินไหวก็จะได้รับความเสียหายค่อนข้างน้อย ส่วนอาคารที่ก่อสร้างในระดับมาตรฐานจะได้รับความเสียหายปานกลาง ส่วนอาคารที่ออกแบบมาไม่ดีจะได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก

– ระดับ VIII (ทำลาย) สำหรับอาคารบ้านเรือนที่ออกแบบมาไม่ดี รวมไปถึงกำแพง หรืออนุสาวรีย์ต่าง ๆ จะได้รับความเสียหายอย่างมาก

– ระดับ IX (ทำลายสูญเสีย) แม้แต่สิ่งก่อสร้างที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสถานการณ์แผ่นดินก็ยังได้รับความเสียหายมาก ตัวอาคารมีการพังทลายลงมา

– ระดับ X (วินาศภัย) ฐานรากและโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างพังทลาย รางรถไฟบิดงอ แผ่นดินอาจมีการแตกอ้าเกิดขึ้น

– ระดับ XI (วินาศภัยใหญ่) ตึกถล่ม สะพานขาด สิ่งก่อสร้างรวมถึงระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย และอาจเกิดแผ่นดินถล่มหรือน้ำท่วมได้

– ระดับ XII (มหาวิบัติ) ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นดินในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวเสียหายโดยสิ้นเชิง

แผ่นดินไหวมีกี่ระดับ

การวัดขนาดของแผ่นดินไหว (Magnitude)

สำหรับการวัดขนาดแผ่นดินไหวนั้น มาตราที่คนส่วนใหญ่รู้จักมี 2 มาตรา ได้แก่ มาตราริกเตอร์ และ มาตราโมเมนต์แมกนิจูด โดยมาตราริกเตอร์จะค่อนข้างคุ้นหูคนไทยมากกว่า แต่รู้หรือไม่ว่าในระดับสากลนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะวัดขนาดของแผ่นดินไหวด้วยมาตราโมเมนต์แมกนิจูด แต่อย่างไรก็ตามมาตราวัดทั้งสองแบบก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ผลของความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว หน่วยวัด

มาตราริกเตอร์ (The Richter Magnitude Scale)

สำหรับมาตราวัดแผ่นดินไหวริกเตอร์ เป็นมาตราที่คนไทยคุ้นชินมากที่สุด ถูกนำเสนอโดย Charles F. Richter นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว โดยการวัดด้วยมาตราริกเตอร์นั้นจะเป็นการวัดค่าแผ่นดินไหวจาก “พลังงานจลน์” ที่เกิดขึ้นขณะเกิดแผ่นดินไหว มาจากค่าความสูงของคลื่นแผ่นดินไหว (Amplitude) ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากบันทึกของเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismograph)

แต่อย่างไรก็ตาม การวัดค่าด้วยมาตราริกเตอร์นั้นกลับไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากการวัดค่าด้วยมาตราดังกล่าว เป็นการวัดขนาดแผ่นดินไหวแบบท้องถิ่น (Local Magnitude) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นการนำมาตรฐานดังกล่าวไปวัดค่าแผ่นดินไหวบริเวณอื่นอาจทำให้เกิดความผิดเพี้ยนได้

Seismograph

มาตราโมเมนต์แมกนิจูด (Moment Magnitude Scale)

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามาตราวัดแบบริกเตอร์ไม่เป็นที่นิยมในระดับสากลเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว ดังนั้นในปี ค.ศ. 1977 นักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่นชื่อว่า Hiroo Kanamori จึงเสนอวิธีวัดขนาดแผ่นดินไหวจากพลังงานโดยตรง ซึ่งเป็นค่าที่ได้มาจากเครื่องบันทึกแผ่นดินไหวเช่นเดียวกับการวัดแบบริกเตอร์แต่มีความแม่นยำกว่า จึงทำให้มาตราวัดดังกล่าวเป็นที่นิยมในการวัดขนาดแผ่นดินไหวทั่วโลก

แผ่นดินไหวมีกี่ระดับ

มาตราวัดขนาดแผ่นดินไหวทั้งแบบ ริกเตอร์ และ โมเมนต์แมกนิจูด แม้ว่าจะมีสูตรการคำนวณที่แตกต่างกัน แต่ค่าที่คำนวณออกมาได้นั้นยังคงมีความใกล้เคียงกันอยู่เมื่อใช้วัดค่าของขนาดแผ่นดินไหวในระดับกลาง (3-6) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อขนาดของแผ่นดินไหวมีระดับที่มากขึ้น ค่าความต่างของทั้งสองมาตราวัดก็อาจแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

Seismograph

การเปรียบเทียบ ความรุนแรง กับ ขนาด ของแผ่นดินไหว

แม้เราจะรู้ข้อมูลการวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวทั้ง 12 ระดับแล้ว แต่เวลาที่สำนักข่าวหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติรายงานสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวมักบอกเพียงค่าของขนาดแผ่นดินไหวเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วคนส่วนมากจะเข้าใจว่าขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิน 5 ตามมาตราวัดริกเตอร์ คือระดับที่เริ่มรุนแรงแล้ว แล้วถ้าค่าที่วัดได้เกินกว่า 5 จะมีความรุนแรงระดับเท่าใดบ้าง ลองดูการเปรียบเทียบระหว่างขนาดของแผ่นดินไหว (ที่วัดด้วยค่าริกเตอร์) กับความรุนแรงของแผ่นดินไหว (ที่วัดด้วยค่าเมอร์คัลลี) ด้านล่างนี้ได้เลย

  • ขนาด น้อยกว่า 3.0 = ความรุนแรงระดับ I-II
  • ขนาด 3.0-3.9 = ความรุนแรงระดับ III
  • ขนาด 4.0-4.9 = ความรุนแรงระดับ IV-V
  • ขนาด 5.0-5.9 = ความรุนแรงระดับ VI-VII
  • ขนาด 6.0-6.9 = ความรุนแรงระดับ VII-VIII
  • ขนาด 7.0-7.9 = ความรุนแรงระดับ IX-X
  • ขนาด มากกว่า 8.0 = ความรุนแรงระดับ XI-XII

แผ่นดินไหว ริกเตอร์

ประวัติศาสตร์ของการเกิดแผ่นดินไหว

ในประวัติศาสตร์โลกได้มีการบันทึกแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดไว้ ซึ่งเกิดเมื่อราว ๆ 3,800 ปีก่อน ณ บริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศชิลี โดยขนาดของแผ่นดินไหวในครั้งนั้นมากถึง 9.5 ตามมาตราวัดขนาดโมเมนต์แมกนิจูด ทำให้เกิดสึนามิสูง 20 เมตร เข้าถล่มบริเวณดังกล่าว ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนั้นเองก็ทำให้ผู้คนในพื้นที่อพยพไปตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนอื่น และไม่กลับไปที่ถิ่นเดิมนานถึง 1,000 ปี

ส่วนในประเทศไทยแผ่นดินไหวที่มีระดับรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น คือขนาด 6.3 ตามมาตราวัดริกเตอร์ โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่ทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย รวมถึงคนที่อยู่บนตึกในกรุงเทพมหานครก็สามารถรับรู้แรงสะเทือนได้เช่นเดียวกัน

แผ่นดินไหวมีกี่ระดับ

การวัดค่าระดับขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไว้นั้น มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างมาก เนื่องจากทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งมาประมวลผลและคำนวณการเกิดแผ่นดินในครั้งต่อ ๆ ไปได้ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างวิธีป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2 3 4


Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button